เมื่อวันที่ 22 ต.ค. ที่ห้องประชุมรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกทม. เสาชิงช้า เขตพระนคร นายไวทยา นวเศรษฐกุล รองผอ.สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. เป็นประธานการประชุมนำเสนอผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ หน่วยงานภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และประชาชน ตามโครงการจัดทำแผนแม่บทกรุงเทพฯ เมืองเดินเท้าและจักรยานสัญจร เชื่อมต่อขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุมและยั่งยืน พ.ศ.2567 – 2575

โดยมี นายศิลป์ ไวยรัชพานิช หัวหน้าโครงการฯและกรรมการมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร จาก สน.ในพื้นที่ ภาครัฐ หน่วยงานของกทม. อาทิ สำนักการโยธา สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขต ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน เข้าร่วมรับฟังการเสนอแผนฯ

รองผอ.สจส. กล่าวว่า สจส.ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย ดำเนินการโครงการจัดทำแผนแม่บทฯ ขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 เม.ย.- 25 ธ.ค 67 เพื่อศึกษา สำรวจ และออกแบบเส้นทางให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ เพื่อเป็นตัวชี้วัดการพัฒนาเมืองสู่การเดินทางที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมใน 4 พื้นที่ย่านสถานีรถไฟฟ้าเป้าหมาย ได้แก่ ย่านสถานีพร้อมพงษ์ สามยอด ลาดพร้าว 71 และท่าพระ ภายใต้รัศมีโดยรอบสถานี 2 กม.

ซึ่งการประชุมในครั้งนี้จะเป็นการนำเสนอผลการศึกษา และเป็นการรับฟังความคิดเห็นของทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แผนแม่บทฯ ข้างต้นมีความครบถ้วนตามวัตถุประสงค์ และตรงต่อความต้องการ พฤติกรรมการใช้ชีวิตของประชาชน

ด้าน หัวหน้าโครงการ มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย กล่าวว่า หลักการออกแบบที่สำคัญสำหรับเส้นทางคนเดิน คนที่ใช้จักรยาน รวมถึงรูปแบบการสัญจรทางเลือกอื่นๆ ต้องมีการคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ และควรมีความตรง มีความเชื่อมโยงกันในย่าน มีความสะดวกสบาย และน่าใช้ น่าดึงดูด ซึ่งการทดลองปรับปรุงกายภาพเส้นทางในแต่ละย่านสถานีจะยึดหลักการออกแบบตามนี้

โดยจากผลการศึกษา มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย มีข้อเสนอต่อสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ระยะสั้น คือการจัดทำโครงข่าย เดิน/ปั่น , ระยะกลาง (3-5 ปี) โครงข่ายเดิน/ปั่น สิ่งก่อสร้าง การขยาย และปรับปรุงทางเท้า การสร้างสะพาน/ทางลอด และระยะยาว (5-10 ปี) เป็นแนวทางการปฏิบัติงานรูปแบบมาตรฐานการออกแบบโครงข่ายทางสัญจร

ทั้งนี้ สำหรับแผนแม่บทกรุงเทพฯ เมืองเดินเท้าและจักรยานสัญจร เชื่อมต่อขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุมและยั่งยืน พ.ศ.2567 – 2575 จะนำไปสู่การเชื่อมต่อบ้าน ที่ทำงาน ศูนย์การค้า สถาบันการศึกษา ตลอดจนเมือง ให้สามารถเดินทางได้อย่างสะดวก ปลอดภัย มากยิ่งขึ้น.