นายมหัทธนะ อัมพรพิสิฏฐ์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เปิดเผยว่า ข้อมูลเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง ครึ่งแรกปี 67 มีจำนวน 16.19 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 66 จำนวน 9.3 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.58% แต่เงินฝากเกินกว่าครึ่งเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ฝากรายใหญ่ที่มีวงเงินมากกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นยอดที่เพิ่มกว่า 107,054 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนสูงและเป็นกลุ่มหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตของเงินฝากโดยเฉพาะเงินฝากของภาครัฐที่เพิ่มสูงเนื่องจากอยู่ระหว่างรอการเบิกจ่ายงประมาณประจำปี

ขณะที่เงินฝากในระดับน้อยกว่า 1 ล้านบาท กลับหดตัวลงเมื่อเทียบกับสิ้นปี 66 โดยลดลง 62,719 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลดลงของเงินฝากกลุ่มบุคคลธรรมดา โดยเฉพาะเงินฝากประเภทออมทรัพย์ เนื่องจากผู้ฝากมีทางเลือกลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า เช่น พันธบัตรออมทรัพย์กระทรวงการคลัง ซึ่งให้ผลตอบแทนดีกว่าเงินฝาก อีกส่วนหนึ่งก็มาจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

สำหรับภาพรวมเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองครึ่งปีแรก 67 แม้จะการเติบโตได้ กว่า 93,210 ล้านบาท หรือ 0.58% แต่ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของเงินฝากมากกว่า 10 ล้านบาท เกินกว่า 1.07 แสนล้านบาท รองลงมาเป็นกลุ่มที่มีเงินฝาก5-10 ล้านบาท 35,274 ล้านบาท และกลุ่มที่มีเงินฝากมากกว่า 1-5 ล้านบาท 13,601 ล้านบาท ส่วนที่มีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาทเป็นกลุ่มเดียวที่ยอดติดลบ

ส่วนจำนวนผู้ฝากที่ได้รับความคุ้มครอง ครึ่งแรกของปี 67 มีทั้งสิ้น 97.10 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อน 2.3 ล้านราย หรือเพิ่มขึ้น 2.48% เกือบทั้งหมดเป็นการฟื้นขึ้นของผู้ที่มีเงินฝากขึ้นเกิน 1 ล้านบาคิดเป็นสัดส่วน 98.15% ของผู้ฝากที่ได้รับความคุ้มครอง เหตุผลที่จำนวนผู้ฝากเพิ่มขึ้น มาจากสถาบันการเงินบางแห่งมีการขยายฐานลูกค้า โดยมีการเปิดบัญชีเงินฝากในลักษณะที่ให้สิทธิพิเศษต่างๆ รวมถึงออกผลิตภัณฑ์พิเศษ เช่น บัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศที่ต้องมีการเปิดบัญชีเงินบาทควบคู่ไปด้วย

นายมหัทธนะ กล่าวว่า สคฝ.ยังได้จับมือกับ วิธิตากรุ๊ป เจ้าของลิขสิทธิ์การ์ตูนแอนิเมชั่นปังปอนด์จอมป่วน ทำโครงการหนังสือ ทวิน บุ๊ก ส่งเสริมการเรียนรู้ คู่สาระทางการเงิน    เพื่อเยาวชนไทย ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง 2 ปี เพื่อให้ผู้ฝากและประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้เรื่องการคุ้มครองเงินฝากได้อย่างสะดวก โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง  และการกระตุ้นวินัยทางการเงินให้กับเด็กและเยาวชนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นและการได้ยิน ผ่านสื่อครบวงจรทั้งภาพ เสียงพากย์ การสัมผัส และภาษามือ