เมื่อวันที่ 22 ต.ค. นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการตรวจสอบไร่เชิญตะวันของพระ ว.วชิรเมธี ที่ จ.เชียงราย บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติหรือไม่ ว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังตรวจสอบไม่เสร็จ และวันนี้ก็ยังลงพื้นที่ตรวจรังวัดที่ดินอยู่ คาดว่าอีก 1-2 วัน เจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 จ.เชียงราย จะสามารถสรุปผลและรายงานมาที่กรมป่าไม้ได้ ทั้งนี้หากได้รับรายงานอย่างเป็นทางการแล้ว ตนจะแจ้งให้สื่อมวลชนทราบ โดยจะมีการจัดแถลงข่าวที่กรมป่าไม้ หรือมีเอกสารข่าวชี้แจงรายละเอียดที่ชัดเจนต่อไป

เมื่อถามว่านายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ได้รับรายงานเบื้องต้นจากการตรวจสอบทั้งหมด 3 แปลง โดย 1 แปลงขออนุญาตจากมูลนิธิวิมุตตยาลัย เนื้อที่ 113 ไร่ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) 2 แปลง เนื้อที่ 14 ไร่ กับ 11 ไร่ ไม่ปรากฏมีการบุกรุกที่สาธารณะ นายสุรชัย กล่าวว่า ยืนยันว่าทางกรมป่าไม้ยังตรวจสอบเรื่องนี้ไม่แล้วเสร็จ วันนี้เจ้าหน้าที่ก็ยังลงพื้นที่อยู่ หากได้ผลการตรวจพิสูจน์ที่ชัดเจนแล้วจะแจ้งให้สื่อมวลชนทราบต่อไป

ด้านนายดำรงค์ พิเดช อดีตหัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย และอดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องตรวจสอบอย่างละเอียด  กรณีที่ดิน พระ ว.วชิรเมธี มีหลายมิติที่เข้ามาเกี่ยวข้อง และมีมติ ครม. หลายอย่าง ซึ่งในปี 2552 กระทรวงทรัพยากรฯ มีการจัดโครงการพระพุทธศาสนากับป่าไม้  ให้วัดช่วยดูแลรักษาป่า โดยมีการคัดวัดที่ร่วมอนุรักษ์ป่า ได้จำนวน 2,000 แห่ง จาก 4,000 แห่งที่อยู่ในพื้นที่ป่า วัดไหนที่ร่วมกับราษฎรในการตัดไม้ทำลายป่า หรือทำไม้เถื่อนก็ได้คัดออกตั้งแต่ตอนนั้น หรือ มติ ครม.ปี 63 ที่มีการจัดสรรพื้นที่ คทช.ให้ราษฎรทำกิน แล้วมีการซื้อที่ถวายวัดหรือไม่ ซึ่งต้องไปตรวจสอบว่า วัดของพระ ว.วชิรเมธี เข้ามาช่วงไหน พระเป็นคนสร้างสิ่งปลูกสร้างเอง หรือญาติโยมสร้างถวาย มีการแผ้วถางป่าเพื่อก่อสร้างหรือไม่ ถ้ามีการแผ้วถางป่าก็มีความผิด ที่สำคัญต้องดูเจตนาการให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ด้วยว่าสามารถทำได้หรือไม่.