รายงานผลวิจัยล่าสุดที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมาบนเว็บไซต์ของ The International Journal of Epidemiology อ้างว่า การยืนมาก ๆ อย่างต่อเนื่องอาจไม่ได้มีผลที่จะลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิตอีกด้วย

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ต้องการตรวจสอบว่า การใช้ชีวิตแบบที่ได้ยืนมากกว่านั่งทั้งวัน เป็นทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพกว่าหรือไม่ เนื่องจากกรณีศึกษาในอดีตเคยระบุว่าการนั่งทำงานทั้งวันก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคร้าย โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจ 

แต่ทีมวิจัยกลับพบว่า การยืนให้นานขึ้นไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดในระยะยาว หนำซ้ำ การยืนนานเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต เช่น เส้นเลือดขอดและภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ

ทีมวิจัยชี้ว่า ลักษณะที่เข้าข่ายของการ “ยืนนานเกินไป” ก็คือ ทุก ๆ 30 นาทีที่เพิ่มเข้ามาจากการยืนที่กินเวลานานกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิตราว 11% ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้วิเคราะห์จากข้อมูลที่ได้จากผู้เข้าร่วมโครงการซึ่งเป็นประชาชนในวัยผู้ใหญ่มากกว่า 83,000 คนในสหราชอาณาจักร ซึ่งจะต้องผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลของสภาพหัวใจและโรคเกี่ยวกับระบบไหลเวียนของโลหิตโดยอาศัยอุปกรณ์สมาร์ตวอตช์ที่สวมใส่ติดตัว

ดร. แมทธิว อาห์มาดี ผู้เขียนหลักของรายงานฉบับนี้กล่าวในแถลงการณ์ว่า ประเด็นสำคัญก็คือ การยืนนาน ๆ ไม่สามารถทดแทนไลฟ์สไตล์แบบที่ไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวได้ และยังเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพด้านระบบไหลเวียนโลหิตสำหรับบางคน ทีมวิจัยพบว่า การยืนนานขึ้นไม่ได้ช่วยให้สุขภาพหัวใจและหลอดเลือดดีขึ้นในระยะยาว ซ้ำยังเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาด้านระบบไหลเวียนโลหิตอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาก็ไม่ได้บ่งชี้ว่า ไลฟ์สไตล์ที่มีกิจกรรมแบบนั่งเป็นส่วนใหญ่จะเป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน ที่มนักวิจัยพบว่าการนั่งนานเกิน 10 ชั่วโมงต่อวันจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด

แพทย์หลายคนพบว่าผลการศึกษาน่าสนใจ แต่ก็ยังมีความชัดเจนไม่มากพอ ดร. โจฮันนา คอนเทรรัส หทัยแพทย์จากโรงพยาบาลเมาท์ไซนายในกรุงนิวยอร์กชี้ว่า รายงานไม่ได้บอกชัดเจนว่าผู้เข้าร่วมโครงการทำอะไรตอนที่กำลังยืนอยู่ เป็นเพียงการยืนเฉย ๆ หรือมีการเคลื่อนไหวเพื่อทำอย่างอื่นด้วย ซึ่งนั่นเป็นปัจจัยที่แตกต่างกัน 

ส่วนดร. คริสโตเฟอร์ อี้ ศัลยแพทย์หลอดเลือดที่ศูนย์การแพทย์เมโมเรียล ออเรนจ์ โคสต์ เมืองฟาวเทนแวลลีย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย มองว่า ผลการศึกษา “ขัดแย้งกับความเชื่อที่ว่าการยืนเป็นเวลานานนั้น ดีกว่าหรือดีต่อสุขภาพมากกว่า” 

แต่ดร. อี้ก็ไม่ได้ตกใจกับผลวิจัยที่ชี้ว่า การยืนนาน ๆ ทำให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อโรคต่างๆ เช่น เส้นเลือดขอดและลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ

สุดท้ายแล้ว แพทย์ทั้งสองเห็นว่า กรณีศึกษานี้และกรณีศึกษาอื่นๆ ก่อนหน้านี้ล้วนเน้นย้ำว่าการเคลื่อนไหวร่างกายเป็นสิ่งสำคัญ “คนที่ยืนเฉยๆ แต่ไม่เคลื่อนไหวร่างกายจะไม่มีสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดที่ดีนัก” คอนเทรรัสกล่าว โดยชี้ว่า สิ่งที่สำคัญจริง ๆ คือการทำกิจกรรมแบบ “แอโรบิก” (การทำกิจกรรมที่ใช้พลังงานโดยอาศัยออกซิเจนเป็นหลัก เน้นการหายใจ ทำให้หัวใจเกิดการสูบฉีดมากขึ้น) ส่วนการยืนเฉยๆ ไม่ใช่การออกกำลังกายแบบแอโรบิก

ดร. อี้ก็เห็นพ้องในทำนองเดียวกัน เขาแนะนำว่า โดยหลักแล้วก็คือต้องมีการเคลื่อนไหว อย่างอยู่นิ่งเฉยตลอดเวลา เห็นด้วย การเคลื่อนไหวร่างกายอย่างต่อเนื่องที่ทำงานหรือที่บ้านจะเป็นการดีต่อสุขภาพมากกว่า 

ที่มา : yahoo/lifestyle

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES