เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 67 สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจ เรื่อง “ความพึงพอใจต่อผลงานตำรวจคดีดิไอคอน” กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 1,160 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 17-19 ต.ค. 67 ที่ผ่านมา บทสรุป ผลสำรวจความพึงพอใจต่อผลงานตำรวจคดีดิไอคอน พบว่า ในเรื่องการติดตามข่าวสารการทำงานของตำรวจคดีดิไอคอน พบมีผู้ติดตามข่าวสารสูงถึง ร้อยละ 93.6 และมีเพียง ร้อยละ 6.4 ที่ไม่ได้ติดตามข่าว ในขณะที่ความยุ่งยาก ซับซ้อน และอิทธิพลของผู้อยู่ในขบวนการ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 87.5 ระบุว่ามีความยุ่งยาก ซับซ้อน และอิทธิพลของผู้อยู่ในขบวนการมากถึงมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้ประชาชนถูกหลอกลวง เดือดร้อนจากขบวนการดิไอคอน พบว่า ความโลภ ร้อยละ 92.9 ความลุ่มหลง ร้อยละ 90.8 ความเข้าใจผิดในการลงทุน  ร้อยละ 87.4 ความหละหลวมของหน่วยงานรัฐ ร้อยละ 65.3 การทุจริตคอร์รัปชัน ร้อยละ 64.9 ที่น่าสนใจคือ ความพึงพอใจของประชาชนต่อการทำงานของตำรวจคดีดิไอคอน พบว่า ความพึงพอใจมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 88.7 พึงพอใจน้อยถึงไม่พึงพอใจเลย ร้อยละ 11.3

รายงานของซูเปอร์โพลชิ้นนี้ ชี้ให้เห็นการตอบรับของประชาชนต่อการทำงานของตำรวจคดี ดิไอคอน ด้วยความพึงพอใจอย่างสูง คือ ร้อยละ 88.7 พึงพอใจมากถึงมากที่สุด นับเป็นเครื่องยืนยันถึงความมุ่งมั่นและความเพียรพยายามของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ต่อสังคม สังคมควรมีส่วนร่วมในการให้กำลังใจและการสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่มีขวัญและกำลังใจในการทำหน้าที่อย่างซื่อตรงเพื่อฟื้นฟูศรัทธาของประชาชนต่อองค์กรตำรวจได้สำเร็จในยุคนี้

นอกจากนี้ การใช้สื่อโซเชียลเพื่อประกาศชื่นชมและส่งเสริมผลงานของตำรวจสามารถสร้างแรงบันดาลใจและส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่มีความมุ่งมั่นทำหน้าที่เพราะการให้กำลังใจเจ้าหน้าที่รัฐผ่านสื่อต่างๆ สามารถช่วยสร้างสภาพแวดล้อมบรรยากาศที่ดีให้กับการทำงานของตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

รายงานของซูเปอร์โพล ระบุด้วยว่า แม้ว่าจะมีการให้กำลังใจเจ้าหน้าที่รัฐ สังคมและสื่อไม่ควรละเลยในการจับตาดูและตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว การมีส่วนร่วมของสังคมในการตรวจสอบจะช่วยป้องกันการทุจริตและรักษามาตรฐานของการปฏิบัติหน้าที่ให้ดำเนินไปอย่างสุจริตและโปร่งใสผ่านการชื่นชมสนับสนุนแต่เกาะติดตรวจสอบเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการเฝ้าระวังการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ สังคมและสื่อโซเชียลสามารถช่วยสร้างและรักษามาตรฐานของความเป็นธรรม ความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยของประชาชนในมิติอื่น ๆ ได้.