เมื่อวันที่ 10 ก.ค. นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง “ทุกข์ของคนไทย ใครช่วยได้” กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพใน กทม. โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ จำนวน 1,116 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 5-9 ก.ค. 64 พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.4 ทุกข์ใจเงินรายได้ที่หดหายไปและการตกงาน นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.3 ระบุ วัคซีนโควิด-19 ไม่พอ และร้อยละ 61.8 ระบุ ความยากจนจากหนี้สินนอกระบบ

ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.5 ระบุ ด้านการศึกษาสะดุด ช่วงโควิด เด็กนักเรียนนักศึกษา เยาวชน ได้รับผลกระทบไม่ได้รับการศึกษาเต็มที่ เด็กยากจนพิเศษเพิ่ม ร้อยละ 51.9 ระบุ ปัญหาอาชญากรรม การหลอกลวง ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

เมื่อแบ่งออกเป็นความทุกข์จำแนกระหว่าง ชาย และ หญิง พบว่า โดยรวม ผู้หญิงกำลังทุกข์ใจมากกว่าผู้ชาย โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.3 ของผู้หญิง เทียบกับร้อยละ 65.4 ของผู้ชายกำลังทุกข์ใจกับเงินรายได้ในที่หดหาย คนตกงาน แต่ในเรื่อง วัคซีนโควิด-19 ไม่พอ พบว่า ร้อยละ 67.0 ของผู้ชาย เทียบกับร้อยละ 65.7 ของผู้หญิง นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.0 ของผู้หญิงเทียบกับร้อยละ 59.3 ของผู้ชายกำลังทุกข์ใจเรื่องความยากจน หนี้สินนอกระบบ

ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ ผลการศึกษายังพบด้วยว่า ร้อยละ 64.8 ของผู้หญิง และร้อยละ 57.7 ของผู้ชายทุกข์ใจด้านการศึกษาสะดุด ช่วงโควิด เด็กนักเรียน นักศึกษา เยาวชนได้รับผลกระทบไม่ได้รับการศึกษาเต็มที่ เด็กยากจนพิเศษเพิ่ม จะเป็นปัญหาใหญ่ระยะยาว และร้อยละ 58.0 ของกลุ่มผู้หญิง เทียบกับร้อยละ 45.0 ของกลุ่มผู้ชายทุกข์ใจเรื่องปัญหาอาชญากรรม การหลอกลวง ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกตามระดับรายได้ พบว่า คนรายได้สูงมากกว่า 50,000 บาทขึ้นไปต่อเดือนกลับกลายเป็นกลุ่มคนที่ทุกข์ใจกับเงินในกระเป๋าที่หายไป รายได้หดคนตกงาน มากกว่า คนในทุกกลุ่มรายได้ กล่าวคือ ร้อยละ 77.8 ของกลุ่มคนรายได้มากกว่า50,000 บาทขึ้นไปต่อเดือน ร้อยละ 70.2 ของกลุ่มคนรายได้ 30,001-50,000 บาทต่อเดือนร้อยละ65.3 ของกลุ่มคนรายได้ 15,001-30,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่ร้อยละ 66.3 ของกลุ่มคนรายได้10,001-15,000 บาทต่อเดือน และร้อยละ 69.5 ของกลุ่มคนรายได้ไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือนเป็นทุกข์ใจกับเงินในกระเป๋าที่หายไป รายได้หด คนตกงาน

ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งเช่นกันคือ ปัญหาด้านการศึกษาที่ได้รับผลกระทบช่วงโควิด เด็กนักเรียนนักศึกษา เยาวชนได้รับผลกระทบไม่ได้รับการศึกษาเต็มที่ เด็กยากจนพิเศษเพิ่ม โดยพบว่าร้อยละ 88.9 ของกลุ่มคนรายได้มากกว่า 50,000 บาทขึ้นไปต่อเดือน ร้อยละ 64.9 ของกลุ่มคนรายได้ 30,001-50,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 63.3 ของกลุ่มคนรายได้ 15,001-30,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 56.0 ของกลุ่มคนรายได้ 10,001-15,000 บาทต่อเดือน และร้อยละ 62.5 ของกลุ่มคนรายได้ไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ทุกข์ใจกับปัญหาด้านการศึกษาที่ได้รับผลกระทบช่วงโควิด เด็กนักเรียน นักศึกษา เยาวชนได้รับผลกระทบไม่ได้รับการศึกษาเต็มที่ เด็กยากจนพิเศษเพิ่ม จะเป็นปัญหาใหญ่ระยะยาว.