เมื่อวันที่ 18 ต.ค. มีพิธีเปิดโครงการ “ทรงจำพระไตรปิฎก ภิกฺขุปาติโมกฺขปาลิ เฉลิมพระเกียรติ” ที่พระอุโบสถวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ โดยมี สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ เป็นประธานเปิดโครงการ พร้อมทั้ง กล่าวสัมโมทนียกถา ว่า ท่านทั้งหลาย พระปาติโมกข์นั้น ท่านเรียกว่า เชฏฐะกะศีล คือ ศีลที่เจริญ เรียกว่า อุตตะมะศีล คือศีลสูงสุด ผู้ที่สำรวมในพระปาติโมกข์นั้น ย่อมพ้นจากภัย คือทุคติ พระบวรพุทธศาสนาของเรานั้น จักดำรงอยู่ได้ ก็เพราะมีการบัญญัติสิกขาบท ดั่งพุทธศาสนี ความตอนหนึ่งในมงคลสูตร ว่า “วินะโย จะ สุสิกฺขิโต” ซึ่งแปลว่า วินัยหรือพุทธบัญญัติ ที่ศึกษาดีแล้ว ชื่อว่าเป็นมงคลอย่างสูงสุด คือเป็นประโยชน์ เพื่อให้เข้าถึงเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา คือพระนิพพาน ได้สอดคล้องต้องตามพุทธประสงค์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงบัญญัติพระวินัย ก็เพื่อให้เกิดการยอมรับกันว่า ดีในหมู่สงฆ์ เพื่อความผาสุก เพื่อข่มคนที่เก้อยาก หน้าด้าน เพื่อให้ภิกษุผู้มีศีลอยู่ผาสุก ป้องกันมิให้เกิดโทษอาสวะในปัจจุบัน กำจัดโทษอาสวะในอนาคต ให้ผู้ที่ยังไม่เลื่อมใสได้เลื่อมใส ให้ผู้เลื่อมใสแล้วเลื่อมใสยิ่งขึ้น เพื่อความดำรงมั่นคงแห่งพระสัทธรรม และเพื่ออนุเคราะห์พระวินัยให้ดำรงอยู่ต่อไป

สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กล่าวต่อไปว่า พระพุทธองค์ ทรงตรัสพระวินัยกถาพรรณนาคุณแห่งพระวินัย ตรัสอานิสงส์แห่งการเรียนพระวินัย ทรงยกย่องผู้ทรงพระวินัย เช่น พระอุบาลีเถระเนืองๆ โดยอเนกปริยาย ฝ่ายผู้กล่าวพระวินัย พระพุทธองค์ตรัสอานิสงส์ไว้ในเรื่องจูฬสงคราม ในคัมภีร์บริวารว่า เป็นบาทฐานให้เกิดความสำรวม บรรลุธรรมตามลำดับไปจนถึงอนุปาทาปรินิพพาน ส่วนผู้ไม่ใส่ใจสิกขาบทเล็กน้อย เช่นเมื่อแสดงปาติโมกข์อยู่แล้ว กลุ่มพระฉัพพัคคีย์ ก่นพระวินัย ก็ปรับเป็นอาบัติปาจิตตีย์ดังที่ทุกท่านทราบแล้วนั้น พระวินัย จึงเป็นรากฐานสำคัญของพระพุทธศาสนา ดังที่พระมหาเถระ ในคราวทำปฐมสังคายนา มีพระมหากัสสปะเถระเป็นประธาน เห็นพ้องกันว่า “วินโย นาม พุทฺธสาสนสฺส อายุ, วินเย ฐิเต พุทฺธสาสนํ ฐิตํ โหติฯ” แปลความว่า พระวินัย จัดเป็นอายุของพระพุทธศาสนา เมื่อพระวินัยดำรงอยู่ พระพุทธศาสนาก็ดำรงอยู่ด้วย ดังนี้ การที่ท่านทั้งหลาย ได้เข้าร่วมโครงการทรงจำพระไตรปิฎก ภิกขุปาติโมกข์ เฉลิมพระเกียรติ เพื่อเพิ่มพูน และทบทวนความรู้เกี่ยวกับพระวินัย ย่อมชื่อว่า เป็นผู้เอื้อเฟื้อต่อพระวินัย โดยเฉพาะภิกขุปาติโมกข์ ซึ่งเป็นพุทธบัญญัติ โดยตรงสำหรับภิกษุในพระพุทธศาสนา นับว่าเป็นศาสนบุคคลที่สำคัญยิ่งในการรักษาพระธรรมวินัย และจักเผยแผ่ธรรมได้อย่างถูกต้อง

ด้านพระพรหมวัชรวิมลมุนี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ กรรมการ มส. เจ้าคณะกรุงเทพฯ กล่าวว่า คณะสงฆ์กรุงเทพฯ จัดโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อความมั่นคงในพระพุทธศาสนา และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะมีการจัดอบรมทั้ง 3 ทำนอง คือ สังโยค มคธ รามัญ ซึ่งเป็นทำนองที่มีการสวดมาตั้งแต่โบราณกาล โดยเป้าหมายของโครงการนี้ เพื่อให้ทุกวัดในกรุงเทพฯ มีภิกษุปาติโมกข์ครบทุกวัด รวมจำนวน 717 รูป โดยในวาระแรกจะมีการอบรมจำนวน 207 รูป ซึ่งจะมีการบรรจุเป็นภิกษุทรงจำปาติโมกข์ประจำกรุงเทพฯ ต่อไป