จากกรณีกระทรวงคมนาคม มีแนวคิดศึกษาจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดในเขตพื้นที่ใจกลางเมือง เพื่อนำไปใช้เป็นทุนในการซื้อรถไฟฟ้าทุกสายคืน 2 แสนล้าน เพื่อต่ออายุรถไฟฟ้า 20 บาทนั้น

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. ที่ศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้า เขตพระนคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า เรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด หรือ Congestion Charge นั้น เป็นเรื่องที่มีหลายแห่งเก็บทั่วโลก เช่นที่สิงคโปร์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นต้น หลักการคือ เป็นการสร้างแรงจูงใจให้คนใช้รถสาธารณะมากขึ้น และใช้รถยนต์ส่วนตัวให้น้อยลง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ ซึ่งจริงๆ แล้ว เราก็มีแนวคิดนี้เหมือนกัน

แต่สิ่งที่สำคัญก่อนที่เราจะทำเรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดหรือ Congestion Charge นั้น ต้องให้มั่นใจว่า เรามีระบบขนส่งสาธารณะที่ดีพอ สามารถกระจายให้ประชาชนมีทางเลือก ซื่งเมื่อพอเรามีทางเลือก เราก็สามารถเก็บเงินได้ ถ้าคนไหนใช้รถก็ยอมเสียตังค์มากขึ้น แต่ว่าในขณะเดียวกัน ก็ต้องมีทางเลือกระบบขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพที่ดีพอ ซึ่งไม่ได้หมายความเฉพาะแค่รถไฟฟ้า แต่หมายความถึงระบบเส้นเลือดฝอย เช่น รถเมล์ ทางเดินเท้าที่เดินเข้าถึงบ้านได้ ควรทำให้สมบูรณ์ ทั้งรูปแบบจากบ้านจนมาถึงที่ทำงานให้ได้สะดวก

“จริงๆ แล้ว แนวคิดนี้เราก็ไม่ได้ขัดข้อง แต่ว่าในขณะเดียวกันก็ต้องให้มั่นใจว่า พื้นที่ที่ทำเรามีระบบขนส่งสาธารณะที่เพียงพอ และประชาชนมีทางเลือก มิเช่นนั้นก็จะกลายเป็นคนที่มีรายได้น้อย และไม่มีทางเลือกในการเดินทาง หรือต้องขับรถมาส่งลูกที่โรงเรียน ก็อาจจะกลายเป็นภาระต่อกลุ่มคนเหล่านี้ได้”

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อไปว่า การจะดำเนินการเรื่องดังกล่าว ถ้าทำก็คงต้องเป็นโซนใหญ่ คงทำเป็นบางถนนไม่ได้ เพราะหากทำเป็นบางถนน ก็จะผลักให้รถไปติดถนนเส้นอื่นแทน หลีกเลี่ยงไม่เข้าถนนเส้นที่มีการเก็บเงิน ทำให้ถนนเส้นอื่นติดหนัก ที่ผ่านมาหากเราสังเกตก็จะเป็นระบบพื้นที่ (area) เช่น เข้ามาในโซน Central Business District (CBD) หรือโซนกรุงเทพฯ ชั้นใน ก็มีระบบที่จัดเก็บเงิน และคงต้องมีเทคโนโลยี เพราะการเก็บเงิน จะนำคนไปเก็บไม่ได้ ซึ่งก็ต้องมีตัวสแกน แต่มองว่าไม่ได้ยาก คงเหมือนระบบทางด่วน

“ก็คิดว่าในแง่หลักการไม่ขัดข้องก็ดีนะ แต่ขณะเดียวกันในแง่ของการปฏิบัติ ก็คงต้องดูในเรื่องของระบบขนส่งสาธารณะให้พร้อม เพื่อประชาชนจะได้มีทางเลือก ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะกลายเป็นสร้างภาระ รถไฟฟ้าอย่างเดียวไม่พอ เพราะคนเราลงจากรถไฟฟ้าแล้วไม่ใช่ถึงบ้านทันที แต่ก็ดีนะ ทำให้เราผลักดันระบบขนส่งสาธารณะให้ดีขึ้น จากนั้นโซนไหนที่พร้อมแล้ว ก็อาจจะทยอยทำได้”.