เมื่อวันที่ 18 ต.ค. ที่ จ.อ่างทอง นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดอ่างทอง มอบชุดเครื่องมือทำมาหากินให้ผู้ผ่านการฝึกอบรมจำนวน 200 คน 5 หลักสูตร ต่อยอดอาชีพสร้างรายได้ที่มั่นคง ตามนโยบาย “หลักประกันทางสังคมเด่น เน้นทักษะทันสมัย คนไทยมีงานทำ สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย เศรษฐกิจแรงงานไทยมั่นคง” โดยมี นายพิริยะ ฉันทดิลก ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง นางจิรวรรณ สุตสุนทร รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ร่วมงาน

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ตนขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมทั้ง 200 คน นอกจากได้รับความรู้ มีทักษะเพื่อนำไปประกอบอาชีพแล้ว ยังได้รับเครื่องมือทำกินอีกด้วย ขอให้ทุกคนนำเครื่องมือเหล่านี้ไปใช้ในการประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวต่อไป   หากต้องการให้กระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดอบรมให้ความรู้ในด้านไหนเพิ่มเติม ขอให้แจ้งไปที่หน่วยงานของกรมที่ตั้งอยู่ในภูมิภาค ทั้งนี่ ที่ผ่านมากพร. ได้ขับเคลื่อนงานดังกล่าวส่งผลให้ผู้ผ่านการฝึกอบรมจำนวน 19,619 คน มีรายได้เพิ่มขึ้น 16,881 คน คิดเป็นร้อยละ 86 เฉลี่ยรายได้เพิ่มขึ้น 5,661 บาทต่อคนต่อเดือน

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ในปี 2568 กพร.มีเป้าหมายในการพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานอิสระ ผู้รับจ้างงานทั่วไป ผู้ว่างงาน และผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 15,500 คน กระจายเป้าหมายลงทุกจังหวัด มุ่งหวังให้ประชาชนทั่วประเทศมีงานทำและมีรายได้อย่างมั่นคง  อย่างไรก็ตาม ตนเตรียมที่จะหารือกับสำนักงบประมาณ เพื่อของบประมาณเพิ่มสำหรับเดินหน้าฝึกอบรมอาชีพ ให้กับแรงงานเพิ่มเติม เนื่องจากตัวเลข 15,500 คน นั้นเมื่อเทียบกับตัวเลขการฝึกอบรม ของปี 2567 ยังถือว่าน้อยกว่าอยู่ 5% และสิ่งที่ตนอยากจะแนะนำก็คือ นอกจากการฝึกอบรมแล้วทางกระทรวงแรงงานโดยกรมการจัดหางานยังมีเงินกองทุนกู้ยืมสำหรับผู้รับงานไปทำที่บ้านด้วย โดยหากกู้คนเดียวจะได้รับสิทธิสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท แต่ถ้าหากรวมตัวกันเป็นกลุ่มแล้วมาของบประมาณก็จะได้สูงสุดถึง 300,000 บาท ดอกเบี้ย 0% คงที่ 3 ปี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ต้องการทุนทรัพย์ สำหรับการประกอบอาชีพ

ด้าน นางจิรวรรณ กล่าวว่า จ.อ่างทองเป็นตัวอย่างสาขาอาชีพที่กรมได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมและมอบเครื่องมือในการทำกินให้ จำนวน 5 หลักสูตร รวม 200 คน ได้แก่ 1. หลักสูตรการเชื่อมประกอบผลิตภัณฑ์ 2. หลักสูตรการตัดเย็บเสื้อผ้า 3. หลักสูตรการทำขนมฟิวชั่น 4. หลักสูตรการแต่งผมสไตล์วินเทจ และ 5. หลักสูตรผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องดื่ม ฝึกอบรม 30 ชั่วโมง ซึ่งหวังว่าเครื่องมือที่มอบให้จะเป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพ ลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนจัดซื้อเครื่องมือประกอบอาชีพ และหลังจากนี้กรมจะมีการติดตามผลอีกครั้ง จึงเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานไทยและทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยดีขึ้น

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการสาธิตอาชีพของแรงงานอิสระกลุ่มสมุนไพรบ้านหงส์และกลุ่มจักสานผักตบชวา การให้คำปรึกษาโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตนตามมาตรา 33, 39 และ 40 เพื่อให้คำแนะนำแก่แรงงานที่มาร่วมในงานอีกด้วย.