เมื่อวันที่ 18 ต.ค ที่จังหวัดอ่างทอง นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการปรับเพิ่มค่าแรง 400 บาททั่วประเทศว่า ตามที่ตนได้เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่าจะมีการปรับเพิ่มค่าแรง 400 บาททั่วประเทศในวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าไม่สามารถทำได้เนื่องจากมีคณะกรรมการค่าจ้างบางส่วนที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุม หรือแม้เข้าร่วมประชุมก็ไม่สามารถที่จะพิจารณาให้เป็นไปในแนวทางที่เราวางเอาไว้คือการปรับเพิ่มค่าแรง 400 บาทได้ กระทั่งต่อมา หลังวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา มีคณะกรรมการเกษียณอายุราชการจำนวน 2 คนคือตำแหน่งปลัดกระทรวงแรงงาน และตำแหน่งอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซึ่งขณะนี้ตำแหน่งปลัดกระทรวงแรงงานนั้น ได้รับการโปรดเกล้าฯ เรียบร้อยแล้ว ยังเหลือตำแหน่งอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานที่ยังรอโปรดเกล้าฯ อยู่ หากได้รับการโปรดเกล้าฯ แล้วก็จะมีการจัดประชุมคณะกรรมการค่าจ้างต่อไป

เมื่อถามถึงกรณี สัดส่วนผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงยืนยันว่าเป็นนายเมธี สุภาพงษ์ หรือไม่ นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ปลัดกระทรวงแรงงาน เคยส่งหนังสือสอบถามไปยัง ธปท.เกี่ยวกับสถานะของนายเมธี ซึ่งทาง ธปท.ก็ตอบกลับมาแล้วว่า นายเมธียังคงเป็นคณะกรรมการค่าจ้าง แต่ไม่ได้อยู่ในนามของ ธปท. ดังนั้นในส่วนนี้ยังถือว่ามีข้อสงสัยอยู่ว่า สัดส่วนดังกล่าวจะเป็นความรับผิด รับชอบของใคร ดังนั้นตนจะให้นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่ทำหนังสือส่งถึง ธปท.อีกครั้ง ว่ายังคงยืนยันให้นายเมธี เป็นคณะกรรมการค่าจ้างในสัดส่วนของรัฐบาล ที่มาจากผู้แทน ธปท.หรือไม่ ทั้งนี้ หาก ธปท.ยืนยัน เป็นสัดส่วนผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ก็ถือว่าจบและจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการต่อไป แต่หาก ธปท. ตอบกลับมาว่านายเมธีไม่ใช่ผู้แทนของ ธปท. ก็จะเท่ากับไม่ใช่คณะกรรมการฯ สัดส่วนรัฐบาล ตนก็จะนำเรื่องนี้เข้าไปหารือในคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง ว่าจะมีแนวทางเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรต่อไป

“ยืนยันว่ากระทรวงแรงงานเราไม่ทะเลาะกับใคร เชื่อว่าทุกคนมีความคิดเป็นของตัวเอง มีนโยบายเป็นของตัวเอง ปัญหาที่เกิดขึ้น จะแก้ไขได้ก็จะต้องมีการจับเข่าคุยกัน เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาและนำมาสู่การฟื้นเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด ดูแลทั้งลูกจ้าง นายจ้าง การประกาศค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศผ่านมาจนถึงตอนนี้ก็ 12 ปีแล้ว แต่การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำยังไปไม่ถึงไหน ไปไม่ถึง 400 บาท คิดง่ายๆ แค่เอาตัวเลข จาก 300 บาทมาถึง 400 บาทก็เท่ากับ 100 บาทหารด้วย 12 ปี ตกปีละ 8 บาท แต่ถ้าเทียบกับอัตราเงินเฟ้อ บวกกับ GDP เฉลี่ยก็ประมาณปีละ 3% แล้วถ้าเอา 3% มาคูณกับ 300 บาทเท่ากับว่าแต่ละปีจะต้องขึ้นประมาณ 9 บาท 12 ปีก็ต้องขึ้นไปแล้วถึง 108 บาท แต่นี่ 12 ปีค่าแรงขั้นต่ำยังได้ไม่ถึง 400 บาท อาจจะมีบางอาชีพที่ได้ถึง 400 บาท แต่ก็มีจำนวนมากที่ขึ้นไม่ถึง ดังนั้นการที่ผมพยายามผลักดันให้ค่าแรงถึง 400 บาทไม่ใช่การทำเกินกว่าเหตุ แต่นี่คือการทำในสิ่งที่พอเหมาะ พอควร” นายพิพัฒน์กล่าว.