จากกรณีตำรวจตามจับกุม 18 บอสใหญ่ในเครือข่าย “ดิไอคอน กรุ๊ป” พร้อมตามอายัดทรัพย์สินเกี่ยวข้องต่าง ๆ มาตรวจสอบ ทั้งเงินในบัญชีธนาคารไปจนถึงรถหรูและนาฬิกาแบรนด์เนม ราคาหลักล้านบาท ตามที่ปรากฏเหตุการณ์ไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ในรายการ “โหนกระแส” โดยพิธีกร “หนุ่ม-กรรชัย กำเนิดพลอย” ได้พูดคุยในประเด็น ติดกับดัก…รักบอสตัวร้าย #5 “ตอนอาจารย์พ่อและอดีตเมีย” ซึ่งจะเป็นการกล่าวถึงบุคคลที่เป็นกุนซือหรืออาจารย์คอยแนะนำให้ “บอสพอล” ทำธุรกิจ “ดิไอคอน กรุ๊ป” โดย นายธเนตร วงษา นักธุรกิจพันล้าน อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พร้อม กบ-อนุสรา จันทรังษี ดาราสาวชื่อดังยุค 80 ภรรยา ได้มาร่วมพูดคุยในรายการ โดยมี ทนายษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ และ ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์ ร่วมซักถามข้อสงสัยต่าง ๆ

โดย ทนายเดชา กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นทนายของผู้เสียหาย อยากถามในประเด็นความเห็นจากคนที่เป็นคนสอน “บอสพอล” ให้ทำธุรกิจในตอนนั้นกับทำธุรกิจ “ดิไอคอน” มันแตกต่างกันยังไง? นายธเนตร ตอบว่า มันต่างกันตรงมีผู้เสียหายที่เดือดร้อนจากการลงทุนเยอะ 2 แสน, 5 แสน, ล้านกว่าบาท หากไม่มีผู้เสียหายก็ไม่เป็นไร ทนายเดชา จึงกล่าวโต้ว่า แล้วการทำธุรกิจของบริษัทเจอร์เนส กับบริษัทดิไอคอน มีการทำธุรกิจเหมือนกันใช่ไหม? ฝ่าย นายธเนตร กล่าวโต้ว่า ไม่เหมือนเพราะ เจอร์เนส ลงทุนสูงสุด 44,000 บาท แต่ของดิไอคอน ลงทุน 2.5 แสนบาท แล้วยังซื้อซ้ำได้ด้วย ส่วนรายละเอียดของสินค้าตนไม่ทราบ

ทนายเดชา ถามต่อไปอีกว่า แบบแผนงานลักษณะเชิญชวนมาลงทะเบียนเรียน 80-90 บาท ก่อนจะชักจูงให้ลงทุน ตรงนี้เคยเห็นหรือไม่ นายธเนตร ตอบว่าไม่เคยเห็น และไม่เคยสอนให้ใครทำแบบนี้ ส่วนที่ว่า “ดิไอคอน” ชวนคน หรือ ขายของกันแน่ ตรงนี้ นายธเนตร ตอบว่าตนไม่รู้เพราะไม่ได้ทำ “ดิไอคอน” แต่คิดว่าน่าจะทำทั้งสองอย่าง การขายตรงและตลาดขายตรง คิดว่า “ดิไอคอน” มีทั้งสองอย่าง และ “การขายตรง” ต้องขออนุญาตด้วย เพราะถ้าไม่มีการขออนุญาตก็จะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

ช่วงท้ายรายการ ทนายตั้มและทนายเดชา ถามในประเด็น ทำไมคนทำธุรกิจขายตรงประเภทนี้จะต้องเอาเงินมาโชว์ หรือโชว์ความร่ำรวย เอาเงินมากอง ๆ ให้ดูด้วย นายธเนตร อธิบายว่า ต่างประเทศเขาก็ทำกัน ไม่ใช่เป็นเรื่องหลอกลวง ไม่ได้ขายฝัน แต่ขายความจริง บอกได้ว่าทำ 3 ปีแรกได้ 100 ล้านทำอย่างไร

มาถึงตรงนี้ ทนายเดชา ถามสวนไปว่า แล้วทำไมธุรกิจแบบนี้ การขายแบบนี้ถึงไม่พูดถึงตัวสินค้าอย่างเดียว นายธเนตร อธิบายว่า ก็ถ้าผมไปขายของคุณก็รู้ว่าผมมาขายของ คุณยังจะอยากฟังเรื่องขายของหรือเปล่า การพูดถึงความสำเร็จจึงเป็นวิธีการ ส่วนที่ว่าอยากจะคิดว่าการทำแบบนี้เป็นกลอุบายก็แล้วแต่จะคิด

“…แชร์ลูกโซ่ ก็เลียนแบบธุรกิจขายตรง มันแปลงร่าง ขายตรงเกิดในอเมริกา ไปโตที่ญี่ปุ่น แล้วมาตายในประเทศไทย การเอารถหรูมาจอดในวันสัมมนาก็เพื่อโชว์ความร่ำรวยว่าประสบความสำเร็จ แต่แชร์ลูกโซ่เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ไม่มีสินค้า มีแต่เอาเงินลงทุนแล้วสัญญาให้โน่นนี่นั่น ซึ่งปัจจุบัน แชร์ลูกโซ่ ก็มีหลายบริษัท สัญญาให้เท่านั้นเท่านี้ใน 100 วัน ซึ่งตนเคยไปคุยกับอดีตนายกฯ ว่าให้แก้ที่ต้นเหตุคือ กฎหมาย หากผิด 100 ผิด 10,000 ก็ต้องจับเลย…” นายธเนตร กล่าว

ทนายเดชา ยังคงถามเรื่อง การเอารถซูเปอร์คาร์ มาจอดโชว์ว่ามีผลในการตัดสินใจหรือไม่ นายธเนตร ตอบว่ามันก็ต้องมีผล ยอมรับว่าสมัยก่อนก็เคยทำ

อย่างไรก็ตามในประเด็นซักถามดังกล่าว “หนุ่ม กรรชัย” พยายามอธิบายว่า ตรงนี้ต้องมองกันคนละมุม ฝ่าย นายธเนตร มองว่าการโชว์เงิน รถหรู เป็นการสร้างกลยุทธ์ แต่ในมุมของฝ่ายผู้เสียหายมองว่า เป็นการหลอกจูงใจเพราะเงิน 100 บาทของคนเราไม่เท่ากัน บางคนต้องการเอาเงิน 100 บาทไปแลก 500 บาทแต่สุดท้ายเสียเงิน 500 บาทไปนั่นเอง.