เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ที่รัฐสภา นายชัชวาล แพทยาไทย สส.พรรคไทยสร้างไทย แถลงว่า วันนี้ตนได้ตั้งกระทู้ถามสดต่อนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวนา และมาตรการพยุงราคาข้าวเปลือก ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ เป็นผู้ตอบกระทู้

นายชัชวาล กล่าวว่า สาเหตุที่ตั้งกระทู้ถามสดในเรื่องนี้ เนื่องจากว่าอีกไม่กี่วันจะเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวเปลือกนาปี แต่รัฐบาลยังไม่มีมาตรการใด ๆ เกี่ยวกับการพยุงราคาข้าว ซึ่งโดยปกติมาตรการพยุงราคาข้าวและมาตรการรักษาเสถียรภาพข้าวจะต้องออกมาตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค. แต่ขณะนี้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวยังไม่เห็น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพข้าวทำให้ข้าวราคาตกต่ำ นอกจากนี้ ยังได้ตั้งกระทู้ถามสดเรื่องเงินช่วยเหลือค่าสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หรือที่เรียกว่าค่าเก็บเกี่ยว ซึ่งได้รับคำตอบว่า มาตรการนี้เป็นมาตรการลดต้นทุนการผลิตเป็นหน้าที่ขอบเขตของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องรอให้กระทรวงเกษตรฯ นำเรื่องนี้เข้าสู่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่เพิ่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ที่ผ่านมา

นายชัชวาล กล่าวอีกว่า ดังนั้นในเรื่องค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท ตามที่ รมช.พาณิชย์ ได้ตอบ ยังไม่มีการยืนยันจากรัฐบาลว่าในฤดูกาลผลิต 67/68 พี่น้องเกษตรกรชาวนาจะยังได้รับค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาทหรือไม่ แต่ยังมีสัญญาณที่ดีที่ รมช.พาณิชย์ ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่าเงินค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท อาจจะถูกแปรสภาพมาจากเงินโครงการปุ๋ยคนละครึ่งที่มีอยู่แล้วในกรมการข้าว กระทรวงเกษตรฯ เพราะก่อนหน้านี้ช่วงเดือน มิ.ย. กระทรวงเกษตรฯ ได้เสนอโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง แต่ปรากฏว่าโครงการนี้ไม่ได้รับการตอบรับจากพี่น้องเกษตรกร ทำให้โครงการต้องหยุดชะงักลง รมช.พาณิชย์ ชี้แจงว่าจะนำเงินงบประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาท ที่ใช้ในโครงการปุ๋ยคนละครึ่งมาพิจารณาแปลงเป็นค่าเก็บเกี่ยว ต้องรอดูว่าในการประชุมนัดแรกของกระทรวงเกษตรฯ และ นบข. จะมีการหยิบยกเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมเพื่อหารือหรือไม่ คำตอบที่ได้รับจาก รมช.พาณิชย์ วันนี้ยังมีทิศทางที่ดี เพราะท่านได้ชี้แจงว่าอาจจะมีความเป็นไปได้ และอาจจะนำกลับมาหารือกันใหม่ในการประชุมของ นบข.

นายชัชวาล กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการพยุงราคาข้าวและรักษาเสถียรภาพข้าว ซึ่งอีกสองอาทิตย์ ข้าวเปลือกนาปีจะออกสู่ท้องตลาดปริมาณ 10-20 ล้านตัน ออกมาพร้อมกัน เพราะพฤติกรรมพี่น้องเกษตรกรชาวนาเปลี่ยนไป แต่ก่อนใช้มือเกี่ยวข้าว กว่าข้าวจะเกี่ยวเสร็จใช้เวลา 1-2 เดือน ความชื้นต่ำจึงไม่มีปัญหาข้าวทะลัก แต่ทุกวันนี้ใช้รถเกี่ยว จึงทำให้มีปริมาณข้าวออกสู่ท้องตลาดพร้อมกัน สิ่งที่จะตามมาก็คือกลไกอุปสงค์ อุปทาน เมื่อสินค้าออกสู่ตลาดเยอะมูลค่าลดต่ำลง ในขณะเดียวกันคุณภาพของข้าวเป็นข้าวก็จะมีความชื้นต่ำทำให้ราคาต่ำ จึงทวงถามไปยังรัฐบาล เพราะในทุกปีที่ผ่านมา รัฐบาลจะมีนโยบายในการสนับสนุนพยุงราคาข้าวไม่ว่าจะเป็นประกันรายได้ จำนำยุ้งฉาง หรือสินเชื่อเพื่อการรวบรวมที่สนับสนุนเงินกู้ให้กับสถาบันเกษตรกร สิ่งเหล่านี้จะเป็นการช่วยพยุงราคาข้าวทางอ้อม แต่ในปีนี้ยังไม่มี

นายชัชวาล กล่าวต่อไปว่า นโยบายในการชะลอข้าว รวบรวมข้าวโดยการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยถูกให้สถาบันเกษตรกร เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ช่วยพยุงราคาข้าวได้จริง ถ้าสหกรณ์ฯ มีสภาพคล่องในการซื้อข้าว และได้สินเชื่อราคาถูก จะทำให้ซื้อข้าวได้มาก จะช่วยชะลอไม่ให้ข้าวออกสู่พ่อค้าเอกชน และใช้สถาบันเกษตรกรเป็นคนซื้อนำ ถ้าราคาข้าวต่ำลง อยากให้ราคาขึ้น ก็ให้สถาบันเกษตรกรซื้อนำ เอกชนจะต้องซื้อแย่งกับสถาบันเกษตรกร ทำให้ราคาข้าวไม่ตก นี่คือข้อดี และการทำงานใน 3-4 ปีย้อนหลังที่ผ่านมาก็เป็นเช่นนี้ แต่ปีนี้ยังไม่มีความชัดเจน

“เข้าใจว่านายกรัฐมนตรีเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้ไม่กี่เดือน ปัญหายังเยอะอยู่ แต่เรื่องของพี่น้องเกษตรกรชาวนา 20 กว่าครัวเรือน ซึ่งอีกไม่กี่อาทิตย์ข้างหน้ าข้าวจำนวนมากจะออกสู่ตลาด จึงอยากให้รัฐบาลดำเนินการตามมาตรการเดิมที่ทำมาก่อน หากยังไม่มีนโยบายใหม่ เพื่อไม่ให้ราคาข้าวตกลงมามาก และเพื่อประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกร วันนี้คำตอบจาก รมช.พาณิชย์ หลายอย่าง ทำให้พี่น้องเกษตรกรมีความหวัง ไม่ว่าเรื่องค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท ที่มีความเป็นไปได้ และรัฐบาลจะเร่งดำเนินมาตรการพยุงราคาข้าว” นายชัชวาล กล่าว.