เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ที่รัฐสภา น.ส.พรรณิการ์ วานิช เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในฐานะโฆษกกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร แถลงถึงคดีตากใบว่า เหลือเวลาอีกเพียงแค่ 8 วันเท่านั้น ก่อนที่คดีตากใบจะหมดอายุความ ซึ่งตอนนี้ยังไม่สามารถจับตัวจำเลยและผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดที่มีการออกหมายจับได้แม้แต่คนเดียว เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้มีการประชุมและมีข้อกังวลตรงกันว่า คดีนี้จะกลายเป็นหมุดหมายสำคัญโดยเฉพาะหากคดีหมดอายุความลงในวันที่ 25 ต.ค. โดยที่ไม่สามารถนำตัวจำเลยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและไม่สามารถทำให้คดีดำเนินต่อไปได้ ซึ่ง สส. ในพื้นที่ได้สะท้อนมาว่า ไปละหมาดและเจอประชาชนในพื้นที่แต่ละครั้ง ถูกถามทุกครั้งว่าจับตัวจำเลยได้บ้างหรือยัง เพราะว่าคนที่ถูกออกหมายจับมีถึง 10 กว่าคน ทั้งนี้ ตนเพิ่งไปพบกับผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจาทางฝั่งมาเลเซีย ซึ่งยืนยันว่ากลุ่มประเทศองค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) รวมถึงนานาชาติให้ความสำคัญและจับตามอง ทุกฝ่ายทราบดีว่าคดีจะหมดอายุความลงในวันที่ 25 ต.ค. และมีแนวโน้มสูงว่าอาจจะหมดอายุความลงไปโดยที่ไม่สามารถนำตัวผู้ถูกกล่าวหาเข้าสู่กระบวนการได้

น.ส.พรรณิการ์ กล่าวว่า ด้วยเหตุที่มีความกังวลตรงกัน ทาง กมธ. จึงมีมติว่าสมควรเชิญผู้เกี่ยวข้องเข้ามาหารือกันในวันที่ 24 ต.ค. หรือ 1 วันก่อนที่คดีความจะหมดอายุลง โดยจะเชิญนายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม นายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และ พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาค 4 เข้ามาหารือร่วมกัน เราต้องการให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะทางรัฐบาลมาหารือร่วมกันว่าหากคดีหมดอายุความลงตามที่กังวลจริงๆ จะมีการรับมือกับสถานการณ์อย่างไร อาจจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น หรืออาจจะมีการฉกฉวยเอาประเด็นนี้ไปเป็นข้ออ้างในการก่อเหตุความรุนแรงเพิ่มขึ้นในพื้นที่หรือไม่

“การเชิญทั้ง 3 ท่านมาหารือร่วมกัน คาดหวังว่าจะเป็นการมองไปข้างหน้า ไม่ใช่การพูดถึงคดีความ เนื่องจากวันที่ 24 ต.ค. ก็เหลือแค่ 1 วันก่อนคดีหมดอายุความ แต่จะเป็นการมองไปข้างหน้าว่าจะหาวิธีรับมือกับสถานการณ์ที่ดีที่สุดอย่างไร ทั้งในแง่ของการประคับประคองบรรยากาศของการเจรจาสันติภาพ ที่ได้ริเริ่มมาครั้งใหม่ในสมัยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ และการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้ด้วย” น.ส.พรรณิการ์ กล่าว

เมื่อถามว่ากรณีที่ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี ลาออกจาก สส.บัญชีรายชื่อ และสมาชิกพรรคเพื่อไทย จะสามารถเรียกร้องไปที่รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามตัวมาดำเนินคดีได้หรือไม่ น.ส.พรรณิการ์ กล่าวว่า ในฐานะ กมธ. ตนคิดว่าเรื่องนี้มีความชัดเจนอยู่แล้ว ว่าสถานะความเป็นหรือไม่เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย หรือการสิ้นสุดจากความเป็น สส. ของ พล.อ.พิศาล ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับคดีนี้ เพราะเป็นคดีที่มีการฟ้องตรงต่อศาล สส. อยู่ในฐานะจำเลย ไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มกันอยู่แล้ว ดังนั้นสถานะความเป็นจำเลยในคดียังมีอยู่

น.ส.พรรณิการ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามไม่อยากให้โฟกัสแค่จำเลยคนใดคนหนึ่ง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีจำเลยซึ่งเป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือนระดับสูงทั้งสิ้น เป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐบาลที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพรรคไหน ก็มีหน้าที่เดียวกันคือการแสดงเจตจำนงทางการเมืองที่มากพอในการนำตัวผู้ถูกกล่าวหา ผู้ถูกออกหมายจับมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้ นี่เป็นโอกาสสุดท้ายของรัฐบาล ว่าวันนี้รัฐบาลสามารถจะแสดงเจตจำนงทางการเมืองได้มากเพียงพอหรือไม่ ในการตามตัวจำเลย ซึ่งมี 2 คนที่อยู่ต่างประเทศ กระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้มีความพยายามในการเจรจาระดับผู้นำประเทศหรือไม่ ส่วนจำเลยที่เหลือที่ยังอยู่ในประเทศไทยมีกระบวนการอื่นๆ นอกเหนือจากกระบวนการของข้าราชการปกติที่ดำเนินการเพื่อนำตัวจำเลยมาได้หรือไม่ ตนยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ใช่การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม เพราะว่าไม่เกี่ยวกับกระบวนการศาล เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ตำรวจและอัยการต้องนำตัวจำเลยมาส่งศาล ซึ่งตำรวจและอัยการอยู่ภายใต้ฝ่ายบริหารแน่นอน โดยอยู่ภายใต้นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง

เมื่อถามว่าหากคดีหมดอายุความไปโดยไม่สามารถติดตามตัวจำเลยมาสู่กระบวนการยุติธรรมได้ จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์หรือฐานเสียงของรัฐบาล โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ น.ส.พรรณิการ์ กล่าวว่า คิดว่าเรื่องสุดท้ายที่เราควรคำนึงถึงในการเยียวยาและให้ความเป็นธรรมต่อคดีตากใบ คือเรื่องคะแนนเสียง การที่พรรคการเมืองหลายพรรคที่กระตือรือร้นหรือหลายพรรคที่อาจจะยังไม่กระตือรือร้นเท่าที่ควร ตนไม่อยากให้มองว่าทำหรือไม่ทำเพราะคำนึงถึงคะแนนเสียง ในเมื่อพวกเราเป็นนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหน มีหน้าที่ในการรับใช้ประชาชน

น.ส.พรรณิการ์ กล่าวอีกว่า ในกรณีนี้ตนคิดว่าประชาชนทั้งประเทศเห็นตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้หรือไม่ ผู้ที่เสียชีวิต เสียชีวิตโดยไม่ควรจะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ประมาท และไม่มีความระมัดระวังเพียงพอ รวมถึงการสลายการชุมนุมที่มีการใช้อาวุธหนักยิงเข้าใส่ประชาชน ตนคิดว่าหน้าที่สำคัญของนักการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลที่มีอำนาจในการบริหารอยู่ คือการทำให้ประชาชนกลับมาไว้เนื้อเชื่อใจรัฐอีกครั้ง ว่ารัฐจะสามารถให้ความเป็นธรรมกับเขาได้ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่สุด ในการนำไปสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้งในชายแดนใต้.