วันที่ 17 ต.ค. ที่ ห้องมงกุฎเพชร 1 โรงแรมโฆษะ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น องค์กรวินร็อคอินเตอร์แนชั่นแนล เป็นองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา โดยดำเนินโครงการเรนในประเทศไทย ได้ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดขอนแก่น จัดฝึกอบรมเกษตรกร เรื่อง “กลยุทธ์และเทคโนโลยีไม่เผาตอซังในนาข้าว” โดยมีนางสาวจิราภรณ์ โชติพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการและการเงิน โครงการเรน เป็นประธานเปิด พร้อมด้วยนายประยูรภัทร ศรีศักดิ์นอก หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สนง.เกษตรจังหวัดขอนแก่น รศ.ดร.ไกรเลิศ ทวีกุล ผู้ประสานงานโครงการ Chi river No Burn นักวิชาการ เกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการอบรมจำนวน 130 คน
       

นางสาวจิราภรณ์ โชติพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการและการเงินโครงการเรน กล่าวว่า “โครงการไม่เผาในลุ่มน้ำชีนี้จะทำการอบรมแกนนำเกษตรกรระดับจังหวัดๆละ 100 คน รวม 400 คน และจะอบรมเกษตรกรในพื้นที่อีก 16 อำเภอๆละ 50 คน รวม 800 คน โดยเกษตรกรที่ผ่านการอบรมจะนำองค์ความรู้และประสบการณ์ การไม่เผาตอซังข้าว นำขยายผลไปยังเกษตรกรท่านอื่นๆ มุ่งหวังให้เกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมในการไม่เผาแล้วใช้วิธีการอื่นในการกำจัดตอซัง โดยการคัดเลือกเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมสู่เกษตรกรในลดรายจ่าย เพิ่มผลผลิตและรักษาสิ่งแวดล้อม มีเกษตรกรและนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร จาก อำเภอเมือง พระยืน และน้ำพอง เข้าร่วม และมีหน่วยงาน อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว กรมพัฒนาที่ดิน มาออกนิทรรศการให้ความรู้ และกลุ่มเกษตรกรมาออกร้านจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร “

นายประยูรภัทร์ ศรีศักดิ์นอก หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า โครงการนี้ดำเนินการในพื้นที่ 4 จังหวัดลุ่มน้ำชี ภายใต้ชื่อ Chi River No Burn Project (โครงการไม่เผาในลุ่มน้ำชี) ซึ่งจังหวัดขอนแก่นเป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมาย ดำเนินกิจกรรมหลัก 4 ด้านได้แก่ การอบรมเชิงปฏิบัติการ การสร้างเครือข่ายเกษตรกร การสร้างความร่วมมือและการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ สนับสนุนเกษตรกรให้ใช้นวัตกรรมเพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน

รศ.ดร.ไกรเลิศ ทวีกุล ผู้ประสานงานโครงการ Chi river No Burn กล่าวว่า ภายหลังจากอบรมให้ความรู้แล้ว เกษตรกรจะได้ขยายผลไปยังเพื่อนเกษตรกร ในการไม่เผาตอซังและมีการใช้จุลินทรีย์ย่อยสลาย อีก 50 คน เกษตรกรที่ผ่านการอบรมระดับจังหวัด หากสามารถขยายผลได้เป็น 30 คนแรก ของแต่ละจังหวัด จะได้รับรางวัลเป็นบัตรกำนัล มูลค่า 10,000 บาทต่อคน นำไปแลกปัจจัยการผลิตจากหน่วยงานที่ทางโครงการได้ประสานงานไว้ รวมแล้วคิดเป็น 120 รางวัล คิดเป็นมูลค่า 1,200,000 บาท นอกจากนี้ หลังเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว จะมีการประกวดว่า ชุมชน/หมู่บ้านไหนมีประกวดการจัดการแปลงนาโดยไม่เผาตอซังดีเด่น จังหวัดละ 3 รางวัล รวม 12 รางวัล ขณะเดียวกัน มีการสนับสนุนการทำแปลงสาธิตไม่เผาตอซังและใช้จุลินทรีย์ย่อยสลาย จำนวน 40 แปลง ซึ่งทางโครงการจะสนับสนุนจุลินทรีย์และค่าการเตรียมดินทั้ง 40 แปลง (ค่าไถดะ ไถพรวน) เพื่อให้เกษตรกรเปลี่ยนทัศนคติไม่เผาตอซังด้วยการใช้จุลินทรีย์ย่อยสลาย