เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 67 ที่รัฐสภา นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) กล่าวถึงรายชื่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ทั้ง 14 คน ว่า วันนี้ได้มีการประชุมวิปวุฒิสภา และได้มีมติว่า ในการประชุมวุฒิสภาในวันที่ 21 ต.ค. นี้ จะนำเรื่องร่าง พ.ร.บ.ประชามติเข้าที่ประชุม ส่วนรายชื่อว่าใครจะไปเป็นกรรมาธิการร่วมบ้าง ต้องรอที่ประชุมวุฒิสภาในวันดังกล่าว ถึงจะสามารถประกาศได้ว่า สว. ทั้ง 14 คน มีใครบ้าง

เมื่อถามว่าทางวุฒิสภา ยังยืนยันเนื้อหาตามที่แก้ไขที่ใช้เสียงข้างมากแบบสองชั้น นายพิสิษฐ์ กล่าวว่า โดยส่วนตัวยังยืนยันว่าเราจะใช้แบบดังกล่าวในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนการทำประชามติเรื่องอื่น ก็จะใช้แบบธรรมดา

เมื่อถามย้ำว่าหากแต่ละสภายังยืนยันเนื้อหาของตัวเองจะทำให้กระบวนการล่าช้าหรือไม่ นายพิสิษฐ์ กล่าวว่า หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถใช้ พ.ร.บ.ประชามติปี 2564 ดังนั้น อย่าใช้เป็นข้ออ้างว่าหากการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติล่าช้า จะทำให้แก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ ส่วนการที่จะแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติหรือไม่ แก้ไขอย่างไร เมื่อเข้าที่ประชุมร่วมกันแล้ว และได้ข้อตกลงอย่างไร ก็จะแยกออกมาเป็นคนละสภา เพื่อที่จะโหวตกันอีกครั้งว่าแต่ละสภาเห็นชอบอย่างไร หากสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบ ก็จะถูกพักไว้ 180 วัน จากนั้นสภาผู้แทนราษฎร จึงจะสามารถประกาศใช้ได้

เมื่อถามถึงกรณีที่มีการมองว่าเกมที่วุฒิสภาเดิน มีการยื้อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายพิสิษฐ์ กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลมีการจริงใจและเจตนาที่ดีต่อประชาชนจริง จึงไม่ได้ต้องการพิจารณาร่วมของ กมธ.ประชามตินี้ก็ได้ เพราะสามารถใช้ พ.ร.บ.ประชามติเดิมได้ เพราะจากที่ตนทราบ การเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือน ก.พ. 68 ตนเชื่อว่ามีผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเกินครึ่งหนึ่งแน่นอน เพราะฉะนั้น คำว่าเสียงข้างมากแบบสองชั้นไม่น่าจะมีผลอะไร ถ้าจะเอาไทม์ไลน์เดิมของรัฐบาลในการทำประชามติพร้อมกับการเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือน ก.พ.