เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความระบุว่า “บันทึกจากนายกสมาคมทนายความฯ ตามที่ทนายความที่อ้างว่าเป็นอิสระท่านหนึ่ง ยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 กล่าวหาอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1) และพรรคเพื่อไทย (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2) ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขรวม 6 ข้อ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำดังกล่าว นั้น ผมมีความเห็นดังนี้ ครับ

ดูชัดๆ ! คำร้อง‘ธีรยุทธ’ชี้ชัด’ทักษิณ-เพื่อไทย‘ เซาะกร่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์

คำร้องที่ 1 ผมเห็นว่าการที่อดีตนายกไปพักรักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพลเอก ประยุทธ และการได้พักรักษาตัวต่อเป็นไปตามความเห็นของแพทย์ ซึ่งตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 55 วรรคสาม บัญญัติให้ห้องพักรักษาตัวที่ชั้น 14 เป็นสถานที่คุมขัง อันถือได้ว่าอดีตนายก ยังรับโทษถูกคุมขังอยู่ตลอดเวลา จึงไม่มีการกระทำใดที่เป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทตามที่กล่าวหา

คำร้องที่ 2 การเจรจาเรื่องเขตพื้นที่ทับซ้อนเป็นหน้าที่หลักของรัฐบาล โดยตามคำร้องก็บรรยายเองว่า “อาจ” ละเมิดอธิปไตยทางทะเลของไทย ซึ่งหมายถึงยังไม่มีการกระทำจึงไม่มีเหตุที่จะขอให้ศาลสั่งให้เลิกสิ่งที่ยังไม่ได้กระทำ

คำร้องที่ 3 ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (1) ผู้มีสิทธิเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้แก่ ส.ส. ส.ว. และประชาชนเข้าชื่อกัน 50,000 ชื่อ ส่วนพรรคการเมืองไม่มีสิทธิยื่นญัตติ จึงไม่มีเหตุที่จะขอให้ศาลสั่งให้ผู้ไม่มีสิทธิเลิกการใช้สิทธิ

คำร้องที่ 4 การพูดคุยทางการเมืองเพื่อหารือถึงผู้ที่สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ (ถ้ามี) มิได้เกิดขึ้นที่บ้านจันทร์ส่องหล้าเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วประเทศอันมีลักษณะเป็นสภากาแฟพูดคุยทางการเมือง ซึ่งเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญมาตรา 34 และ 36 ส่วนการลงมติเห็นชอบผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นอำนาจและเอกสิทธิโดยเด็ดขาดของ ส.ส. ตามมาตรา 124 ไม่ใช่อำนาจของพรรคการเมืองและไม่ใช่การใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49

คำร้องที่ 5 การคัดสรรผู้สมควรเป็นรัฐมนตรี เป็นหน้าที่และอำนาจ (ไม่ใช่สิทธิ) ของนายกรัฐมนตรี ส่วนพรรคการเมืองไม่มีอำนาจและหน้าที่ จึงไม่ใช่เรื่องของการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะอยู่ในอำนาจวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรานี้

คำร้องที่ 6 นโยบายที่นายกรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภาตามมาตรา 162 เมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่ผ่านมา เป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรี ซึ่งประกอบด้วยบุคคลที่มาจากหลายพรรคการเมืองรวม 36 คน แต่ไม่ใช่นโยบายของพรรคการเมือง อีกทั้งพรรคเพื่อไทยมีรัฐมนตรีไม่ถึงครึ่งจึงครอบงำ ครม. ไม่ได้

จากข้อเท็จจริงจะเห็นได้ว่าคำร้องดังกล่าวเลื่อนลอย ไร้เหตุผล จับโยงกันไปมาอย่างสับสน ไม่มีความชัดเจนในทุกเรื่อง เพราะพฤติกรรมตามคำร้องทั้ง 6 ข้อ บางเรื่องก็ไม่ใช่การใช้สิทธิ บางเรื่องก็ไม่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ถูกร้องทั้งสอง และทุกเรื่องไม่เกี่ยวกับการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างฯ แม้แต่น้อย แต่มีข้อน่าสังเกตเกี่ยวกับพฤติกรรมและความไม่ปกติที่มาของผู้ร้อง ประกอบกับการเชื่อมโยงและดึงสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้อง

นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย 16 ตุลาคม 2567″

ขอบคุณข้อมูล – ภาพ เพจ “สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย”