สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ว่า การขจัดความยากจนทั่วโลกได้ชะลอตัวจนแทบหยุดนิ่ง โดยเฉพาะในช่วงปี 2563-2573 ซึ่งโลกเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ซับซ้อน อาทิ การเติบโตที่ชะลอตัว, การระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างรุนแรง

นายอักเซล ฟาน ทรอตเซนเบิร์ก กรรมการผู้จัดการอาวุโสของธนาคารโลก เตือนว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจตามปกติจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป เนื่องจากประชากรเกือบ 700 ล้านคน หรือร้อยละ 8.5 มีรายได้ไม่เกิน 2.15 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน (ราว 71.30 บาท) ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ยากจนขั้นรุนแรง และคาดว่าตัวเลขจะคงอยู่ที่ร้อยละ 7.3 ในอีก 6 ปี

ปัจจุบัน ความยากจนขั้นรุนแรงกระจุกตัวอยู่ในประเทศที่มีการเติบโตต่ำและเปราะบาง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคซาฮาราของทวีปแอฟริกา

ร้อยละ 44 ของประชากรโลก มีรายได้ต่ำกว่า 6.85 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน (ราว 227 บาท) ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ยากจนของประเทศที่มีรายได้ปานกลางหรือสูง

รายงานธนาคารโลกระบุต่อไปว่า จำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในเกณฑ์ความยากจนนั้น แทบไม่เปลี่ยนแปลง นับตั้งแต่ปี 2533 เนื่องจากการเติบโตของประชากร ขณะที่การลดความยากจนในอนาคต ต้องอาศัยการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยกว่าในอดีต

ประชากรเกือบ 1 ใน 5 คน ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่เลวร้ายตลอดช่วงชีวิต และต้องดิ้นรนเพื่อฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ดังกล่าว.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES