เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงกรณีการออกระเบียบคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธิการมอบอำนาจให้ศึกษาธิการจังหวัดปฏิบัติราชการแทน พ.ศ. 2567 ว่า ระเบียบฉบับดังกล่าวเป็นไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นระเบียบที่มีนานแล้ว และการออกหลักเกณฑ์และวิธีการมอบอำนาจให้ศึกษาธิการจังหวัดปฎิบัติราชการแทนนั้น มีเจตนาสำหรับหน่วยงานที่ไม่มีหน่วยปฏิบัติงานในพื้นที่ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) หรือ คุรุสภา เป็นต้น เพื่อประโยชน์ในการบริหารงาน กำกับดูแล และบูรณาการการศึกษาของ ศธ. ในจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร ให้เลขาธิการหรืออธิบดีมอบอำนาจให้ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ปฏิบัติราชการแทน คือ การบริหารงานบุคคล วิชาการ บริหารงานทั่วไป งบประมาณ และทรัพย์สิน

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลในส่วนของงานในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยเฉพาะประเด็นการบริหารงานบุคคลนั้น ไม่ต้องกังวล เพราะงานในส่วนดังกล่าว จะเป็นอำนาจของเขตพื้นที่ดำเนินการตามเดิม เพราะได้มีการปรับแก้กฎหมายตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ. ไปแล้วเมื่อปี 2565 ซึ่งเป็นการโอนภารกิจด้านการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามาอยู่กับคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) ประจำเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ดังนั้นจึงไม่สามารถเอางานในส่วนนี้ของเขตพื้นที่คืนไปได้