เมื่อวันที่ 15 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการตรวจสอบข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ รายงาน ข้อมูลเกี่ยวกับโรคมะเร็งท่อน้ำดี พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ทั้งนี้ สถานการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทยมีผู้ป่วยรายใหม่ 139,206 ราย เป็นเพศชาย 67,061 ราย อัตราเกิด 147.5 ต่อแสนประชากร ส่วนผู้หญิง ป่วย 72,145 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 141.8 ต่อแสนประชากร แต่ละปีมีคนเสียชีวิตประมาณ 83,000 คนต่อปี โดยเฉพาะโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี เป็นโรคมะเร็งอันดับหนึ่งในเพศชายผู้ป่วย 15,358 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 33.2 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 10,797 ราย เป็น 34 ต่อแสนประชากร ส่วนผู้หญิงพบอยู่ในอันดับ 3 ของมะเร็งในผู้หญิง ป่วย 6,855 ราย คิดเป็น 12.2 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 4,303 ราย คิดเป็นอัตรา 12.9 ต่อแสนประชากร

สาเหตุ : มะเร็งท่อน้ำดี มักเกิดจาก พยาธิใบไม้ในตับ และสารก่อมะเร็งพวก ไนโตรซามีนส์ ซึ่งอยู่ในสารถนอมอาหาร พวกดินประสิว นิ่วในตับก็มีความสัมพันธ์กับมะเร็งท่อน้ำดีในตับ

อาการ : มักมีอาการเหมือนถุงน้ำดีอักเสบ คือ เจ็บปวดชายโครงขวา ถุงน้ำดีโต ท้องอืด ปวดท้อง น้ำหนักลด มีไข้ หรือเป็นดีซ่าน อาการของมะเร็งท่อน้ำดีมักทำให้เกิดอาการของดีซ่าน มีไข้ ปวดท้อง

การตรวจวินิจฉัย : ใช้วิธีการตรวจเลือดดูว่ามีดีซ่านหรือไม่ ใช้อัลตราซาวด์หรือคอมพิวเตอร์ตรวจดูก้อนในถุงน้ำดี และ ท่อน้ำดี และในกรณีที่มีอาการอุดตันท่อน้ำดีจะใช้วิธีการตรวจพิเศษ คือ การฉีดสีเข้าไปในท่อน้ำดี เพื่อดูว่าส่วนใดที่มีการอุดตัน และวินิจฉัยแยกจากโรคอื่น การเจาะเลือดเพื่อดูสารที่มะเร็งถุงน้ำดี ปล่อยออกมาที่เรียกว่า ทูเมอร์ มาร์คเกอร์ ก็ช่วยในการวินิจฉัยได้ดี

การรักษา : การผ่าตัดเป็นวิธีที่ดีที่สุด มะเร็งถุงน้ำดีจะผ่าตัด โดยตัดถุงน้ำดี และบางครั้งต้องตัดตับบางส่วนพร้อมต่อมน้ำเหลืองรอบข้างไปด้วย มะเร็งท่อน้ำดีจะตัดท่อน้ำดีและอวัยวะข้างเคียงออกด้วย แต่ในกรณีที่ผ่าตัดออกไม่ได้ การผ่าตัดเพื่อบรรเทาอาการดีซ่านก็ ยังเป็นวิธีการรักษาแบบประคับประคองที่ดีที่สุด การลดอาการดีซ่านอาจใช้วิธีใส่ท่อเข้าไปในท่อน้ำดีผ่านทางผิวหนัง (PTBD) หรือการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัดมักไม่ได้ผลแต่เป็นการบรรเทาอาการ การใช้รังสีรักษา มักใช้ในรายที่ผ่าตัดไม่ได้แต่เพื่อบรรเทาอาการและ ประคับประคองเท่านั้น หรือบางครั้งอาจช่วยเสริมการผ่าตัดได้.