นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการแอ่วเหนือคนละครึ่ง ว่า ขณะนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. กำลังรวบรวมสินค้าด้านการท่องเที่ยวรวมถึงแพ็กเกจต่างๆ เพื่อลงแอปพลิเคชันเบส ของ ททท.  เพื่อให้ร้านค้า โรงแรม ที่พัก สามารถเข้าร่วมโครงการได้ผ่านแอปพลิเคชันนี้ ส่วนการประชาชนที่จะเข้าร่วมโครงการสามารถสแกนคิวอาร์โค้ดผ่านแอปพลิเคชันเบสเพื่อรับสิทธิได้เลย

“ส่วนในระยะถัดไปอาจจะมีการพิจารณาออกมาตรการอื่นๆ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวด้วย เช่น โครงการเที่ยวคนละครึ่งที่จะขยายไปทั่วประเทศ หากโครงการแอ่วเหนือคนละครึ่งมีกระแสผลตอบรับดี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือดีก็จะต่อยอดไปทั่วประเทศได้ โดยจะต้องรอหารือกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 16 ต.ค. 2567 เวลา 13.30 น. ก่อน เพราะวันนี้นายกฯ ได้นัดหารือถึงแผนฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยและกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงปลายปีต่อเนื่องไปจนถึงปี 2568” นายสรวงศ์ กล่าว 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจะนำเงินจากงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจในงบประมาณกลาง ปี 2568 มาจัดทำโครงการเที่ยวคนละครึ่งด้วยหรือไม่ นายสรวงศ์ กล่าวว่า ใช่ อาจจะใช้งบประมาณส่วนงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจมาทำโครงการนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม โครงการแอ่วเหนือคนละครึ่ง รัฐบาลจะให้เงินสนับสนุน 400 บาทต่อคนต่อทริป และประชาชนที่เข้าร่วมโครงการจ่าย 400 บาทต่อคนต่อทริป หากใช้จ่ายมากกว่านั้นก็จะต้องจ่ายเอง โดยสามารถใช้จ่ายได้ทั้งสินค้า ท่องเที่ยว เช่น ร้านอาหาร โรงแรม ที่พัก ซึ่ง ททท. อยู่ระหว่างการรวบรวมสินค้าที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการในวันที่ 1 พ.ย. 2567 นี้ 

ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ก่อนหน้านี้สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ได้เสนอให้รัฐบาลสนับสนุนเที่ยวคนละครึ่งจำนวน 2,000 บาทต่อคนต่อทริป เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวใน 55 จังหวัดเมืองน่าเที่ยว (เมืองรอง) และจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่น เพื่อกระจายนักท่องเที่ยวไปจังหวัดเมืองน่าเที่ยวเนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในเมืองหลัก  ดังนั้นหากมีโครงการนี้มาช่วยก็จะทำให้คนเลือกเดินทางท่องเที่ยวในเมืองน่าเที่ยวมากขึ้น และเพิ่มการใช้จ่ายมากขึ้นด้วย ซึ่งเป็นแรงส่งให้รายได้จากการท่องเที่ยวภายในประเทศไปถึงเป้าหมาย 9 แสนล้านบาท หลังในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยวหรือโลว์ซีซั่นที่ผ่านมาจากสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง สินค้าและบริการด้านท่องเที่ยวขายได้น้อยลง