ผู้หญิงกลุ่มนี้ไม่เพียงช่วยรังผึ้งให้รอดพ้นจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว ซึ่งเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ แต่พวกเธอยังสร้างธุรกิจนํ้าผึ้งที่เฟื่องฟูด้วย

หมู่บ้านชิลาล เด ลา เมอร์เซด ซึ่งมีประชากรราว 800 คน และตั้งอยู่บนความสูงกว่า 2,600 เมตร ในเทือกเขาแอนดีส แคว้นกาฆามาร์กาของเปรู ได้รับผลกระทบในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งจากฝนตกหนัก, ภัยแล้ง, นํ้าค้างแข็ง และพายุลูกเห็บที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ซึ่งเกี่ยวข้องกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และมหาสมุทรที่อุ่นขึ้น

อนึ่ง สภาพอากาศส่งผลกระทบอย่างหนักต่อความสามารถของผึ้ง ในการหานํ้าหวานและละอองเกสร โดยในช่วงต้นปี 2565 ภูมิภาคแห่งนี้มีฝนตกหนักมาก จนผึ้งไม่ออกจากรังเลย และเริ่มอดตาย

“เมื่อเราตรวจสอบรังผึ้ง พวกเราพบกล่องที่เต็มไปด้วยผึ้งตาย” น.ส.คารินา วิลลาโลโบส โฆษกหญิงของสมาคมคนเลี้ยงผึ้ง “โฮฆูเอลาส เด มิเอล” วัย 28 ปี เล่าถึงเหตุการณ์ในเวลานั้น

ในปีก่อนหน้า เธอและคนเลี้ยงผึ้งอีก 14 คน ยื่นขอเงินทุนจาก “อแวนซาร์ รูรัล” ซึ่งเป็นโครงการที่จัดทำโดยรัฐบาลเปรู และกองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม (ไอเอฟเอดี) ของยูเอ็น เพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตอาหารรายย่อยในพื้นที่ชนบท ที่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

แผนการข้างต้นเกือบไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศไม่รอทุนสนับสนุน และแม้ว่าเงินทุนจะมาถึงแล้ว แต่โครงการต่าง ๆ ก็ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ ซึ่งหลายเดือนหลังจากกลุ่มคนเลี้ยงผึ้งหญิงได้รับเงินทุนด้านสภาพอากาศ 27,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 900,000 บาท) พวกเธอก็เผชิญกับหายนะอยู่แล้ว

แม้ประชากรผึ้งทั่วโลกถูกมองว่าเป็นตัวบ่งชี้ระบบนิเวศที่สมบูรณ์ แต่บรรดาผู้สันทัดกรณีกล่าวเตือนว่า พวกมันเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการใช้ยาฆ่าแมลง และการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย

โฮฆูเอลาส เด มิเอล ตัดสินใจที่จะพยายามปรับตัวให้เข้ากับวัฏจักรสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อฤดูดอกไม้บาน ทำให้ผึ้งไม่สามารถเก็บนํ้าหวานและละอองเกสรได้ โดยกลุ่มผู้หญิงเลี้ยงผึ้งด้วยนํ้าเชื่อมผสมนํ้าตาลและวิตามิน เพื่อชดเชยแหล่งอาหารที่หายไปของผึ้ง

นอกจากนี้ พวกเธอยังวางแผนสำหรับอนาคตเช่นกัน โดยใช้เงินทุนเพื่อปลูกพืชและดอกไม้พื้นเมืองล้อมรอบรังผึ้ง ไม่ว่าจะเป็น ดอกคาลล่าลิลลี่ และต้นกาแฟ ซึ่งทนต่อภาวะแห้งแล้งและฝนได้ดีกว่า และเมื่อพืชเหล่านี้เจริญเติบโต พวกเธอก็จะย้ายมันไปปลูกในป่า เพื่อขยายแหล่งที่อยู่อาศัยของผึ้ง

ทั้งนี้ทั้งนั้น คนเลี้ยงผึ้งในหมู่บ้านชิลาล เด ลา เมอร์เซด ต้องหาเงินให้ได้ 10% ของต้นทุนแผนธุรกิจของพวกเธอ หรือเท่ากับ 3,800 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 126,000 บาท) ก่อนได้รับเงินช่วยเหลืองวดแรก ซึ่งพวกเธอนำไปใช้เพื่อซื้ออุปกรณ์และจ้างที่ปรึกษาทางเทคนิค,
การเงิน และสิ่งแวดล้อม โดยในปัจจุบัน สมาคมมีรังผึ้ง 89 รัง และมีรายได้ประมาณ 13,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 433,000 บาท).