เมื่อที่ 14 ต.ค. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จลง ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ประธานอุปถัมภ์การจัดสร้างปูชนียมงคลวัตถุ วัดตาปะขาวหาย อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก นำพระมหาพิชัย ธมฺมวํโส เจ้าอาวาสวัดตาปะขาวหาย จังหวัดพิษณุโลก เจ้าคณะตำบลหัวรอ เขต 2 และคณะกรรมการฯ เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานไฟพระฤกษ์ เพื่อถวายพระสงฆ์ จุดเทียนชัยในพิธีพุทธาภิเษก-สมโภชปูชนียมงคลวัตถุ รุ่นพุทธเทวบารมี สำเร็จสมปรารถนา พร้อมทั้งรับพระราชทานผ้าไตรเพื่อถวายพระภิกษุสงฆ์ในพิธีพุทธาภิเษก-สมโภช ณ อุโบสถวัดตาปะขาวหาย ตำบลหัวรอ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า วัดตาปะขาวหาย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2444 เนื้อที่กว้าง 20 เมตร ยาว 30 เมตร มีพื้นที่จำนวน 22 ไร่ 1 งาน 25 ตารางวา ตั้งอยู่เลขที่ 56 หมู่ที่ 4 บ้านตาปะขาวหาย ตำบลหัวรอ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก เป็นวัดโบราณที่ปรากฏนามต่าง ๆ ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2444-2470 คือ 1. วัดตาปะขาวหาย ซึ่งปรากฏในตำนานการสร้างพระพุทธชินราช ในพระราชพงศาวดารเหนือ ความว่า “พระอินทร์” ได้นฤมิตตนเป็น “ตาปะขาว” มาช่วยปั้นและทำ “ตรีศูล” ไว้ที่พระนาลาฏพุทธพักตร์พระพุทธชินราช และเททองหล่อจนแล้วเสร็จ สำเร็จสมปรารถนา มีพุทธลักษณะที่งดงามเป็นเอกอุในปฐพี สมในพระราชศรัทธา “พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก” เจ้าเมืองเชียงแสน ทรงโปรดให้ จ่าการบุญ และจ่านกร้อง มาสร้างเมืองพิษณุโลก แล้วเดินออกจากเมืองพิษณุโลกทางทิศเหนือ มาอันตรธานหายตัวไปที่บ้านวัดตาประขาวหายแห่งนี้ กระทั่งในกาลต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย และพระวินิจฉัยว่า “พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก” ในพระราชพงศาวดารเหนือ ซึ่งไม่มีตัวตนในปรากฏในหลักฐานเชียงแสน จึงทรงสันนิษฐานว่า คือ “พระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท) กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์พระร่วงเจ้า กรุงสุโขทัย ทรงสร้างพระพุทธชินราชใน ปีพ.ศ. 1900 และ 2. วัดเตาไห, บ้านเตาไห เป็นแหล่งโบราณคดี เตาเผาเครื่องปั้นดินเผาโบราณ ริมแม่น้ำน่าน สมัยสุโขทัยตอนปลาย รูปทรงเตาทุเรียง ระบายความร้อนแนวนอน มีภาชนะเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นอัตลักษณ์ของแหล่งเตาเผาโบราณแห่งนี้ คือ “ไหลายอุ” มีลายปั้นแปะเป็นรูป “อุม้วนเข้า” และ “อุม้วนออก” พร้อมมีลายขูดขีด ลายกดประดับไว้ที่ผิวภาชนะไห ซึ่งเป็นภาชนะที่มีเนื้อเอียดและแกร่งกว่าไหลายอุจากแหล่งเตาเผาสุโขทัย จึงนิยมเรียกกันว่า “ไหลายอุ” “บ้านเตาไห” หรือ “แหล่งเตาเผาลุ่มน้ำน่าน” หรือ “แหล่งเตาเผาพิษณุโลก” จนปรากฏเป็นภูมินามของบ้านและวัดเตาไหสืบต่อมาจนทุกวันนี้ และยังปรากฏเป็นชื่อชุมชนโบราณ 1 ใน 26 ชุมชนโบราณรอบเมืองพิษณุโลก ทั้งในแผนที่เมืองพิษณุโลก ในตำราพิชัยสงครามสมัยอยุธยา และในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระมหินทราธิราช ในคราวพระเจ้าศรีสัตนาคนหุต ล้านช้าง ยกทัพมาล้อมตีเมืองพิษณุโลก นอกจากนี้ ยังปรากฏนามอื่น ๆ ได้แก่ วัดบ้านตาปะขาวหาย วัดตาผ้าขาวหาย และวัดชีปะขาวหาย จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2484 จึงใช้ชื่อ “วัดตาปะขาวหาย” มาจวบจนถึงปัจจุบัน

“วัดตาปะขาวหาย เป็นโบราณสถานที่มีปูชนียสถานสำคัญ ได้แก่ 1. “พระพุทธชนะมาร” พระประธานอุโบสถโบราณคู่วัด หน้าตักกว้าง 2.80 เมตร สูง 6 เมตร สร้างด้วยเนื้อดินฉาบ 2. มณฑปโบราณ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน “รอยพระพุทธบาทสี่รอย” โลหะสำริด ฐานสิงห์ แข้งสิงห์รูปเทพพนม มีลายพฤกษชาติเครือเถาและหน้ากาลราหู โดยมณฑปมีเสาประธานนอก ก่ออิฐสอปูน (ปูนตำโบราณ) 24 ต้น ผนังก่ออิฐฉาบปูนตำ เครื่องบนเป็นไม้ซุง หลังคาจตุรมุข ลดหลั่น 2 ชั้น มีหลังคาปีกนก ช่องฟ้า ปูนปั้น 8 ช่อ หางหงส์ปูนปั้นนาคสามเศียร และ “ยอดมณฑป” ประติมากรรมปูนปั้นเทพพนม พรหมสี่หน้า ประทับเหนือ ราหู 4 ทิศ ยอดบัวกลีบบัวลดหลั่น 5 ชั้น หน้าบันปั้นเขียนภาพด้วยสีฝุ่น รูปครุฑ เป็นต้น 3. หอสวดมนต์ไม้โบราณ กว้าง 9 เมตร ยาว 14 เมตร ทรงไทย กุฏิล้อมรอบ 3 ด้าน ด้านหน้ามีบันไดขึ้น แบบเรือนไทยโบราณ ช่อฟ้าหัวพญานาค สร้างเมื่อ พ.ศ. 2431 และ 4. ศาลเทพตาปะขาว ประดิษฐานเทวรูปหล่อเทพตาปะขาว (พระอินทร์นฤมิตตน) สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวัดตาปะขาวหาย โดยได้ทำการหล่อขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ. 2520 เพื่อให้ชาวบ้านทั่วไปได้กราบไหว้บูชาของพรองค์เทพตาปะขาว ที่ได้มาปั้นหุนเททองหล่อพระพุทธชินราช จนแล้วเสร็จมีพุทธลักษณะที่งดงามยิ่งเป็นเอกอุในปฐพี” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

“วัดตาปะขาวหาย และชุมชนตำบลหัวรอ ได้จัดสร้างปูชนียมงคลวัตถุ รุ่นพุทธเทวบารมี สำเร็จสมปรารถนาขึ้น เพื่อหารายได้สมทบทุนในการก่อสร้าง ศาลาธรรมสังเวช ทรงไทย ขนาดกว้าง 23 เมตร ยาว 60 เมตร ให้แล้วเสร็จ พร้อมปรับปรุงพัฒนาภูมิทัศน์ของวัด มีกำหนดประกอบพิธีพุทธาภิเษก-สมโภช ในวันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน 2567” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย