ภัยพิบัติน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ ไล่มาตั้ง จ.น่าน จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ และรุกคืบมาในที่ภาคกลาง จากเหตุภัยพิบัติน้ำท่วมกำลังสร้างผลกระทบกับประชาชนเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงานเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 25 เรื่อง “แพลตฟอร์มจุฬาฯ ฝ่าพิบัติ: Digital War Room” ขึ้น นำเสนอนวัตกรรมจากคณาจารย์นักวิจัยจุฬาฯ ที่บูรณาการองค์ความรู้ทางวิชาการในการป้องกันและแก้ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือและแก้ปัญหาได้ตรงจุดและทันท่วงที

ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ มาเปิดสัมมนาพร้อมเน้นย้ำว่า “เมื่อสังคมมีปัญหา จุฬาฯ มีคำตอบ” โดยมีวิทยากรผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ ผู้รักษาการรองอธิการบดี จุฬาฯ ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และ ศ.ดร.ใจทิพย์ ณ สงขลา อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ

รศ.ดร.ศิริเดช เผยว่าการดำเนินงานภายใต้แพลตฟอร์มจุฬาฝ่าพิบัติ: ดิจิทัลวอร์รูม (Chula Disaster Soluion Network: Digital War Room) ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ส่วนที่ 1 .ระบบการเตือนภัยและขอความช่วยเหลืออย่างเฉพาะเจาะจงตำแหน่ง ด้วยการบูรณาการแผนที่ภูมิสารสนเทศ ทำให้สามารถระบุตำแหน่งที่มีความอ่อนไหวได้ส่วนที่ 2. ระบบการจัดสรรทรัพยากรให้ตรงตามความต้องการ ทั่วถึงและทันท่วงที ส่วนที่ 3 .ระบบการถอดบทเรียนและสร้างการเรียนรู้ ตั้งแต่เรื่องการเตือนภัย การกู้ภัย การขนย้ายและอพยพ การบรรเทาทุกข์ และการฟื้นฟูหลังพิบัติ

  ศ.ดร.ใจทิพย์ กล่าวว่าแพลตฟอร์มนี้เป็นการบูรณาการระหว่างวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์เข้าด้วยกัน และให้ผู้ร้องขอได้มาเจอกันในการช่วยเหลือแต่ละครั้งเมื่อมีเหตุภัยพิบัติ การเข้าไปช่วยเหลือไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ว่าพื้นที่นั้นมีสัญญาณอินเทอร์เน็ตหรือไม่ เพราะใช้เครือข่ายคนเป็นหลัก เพราะคนที่จะเข้าถึงข้อมูลจะมีกลุ่มจิตอาสา กลุ่มกู้ภัย และหน่วยงานภาครัฐตลอดจนผู้นำชุมชนที่จะเป็นผู้ดูข้อมูลอ่านแผนที่อพยพ จุดน้ำไหลผ่านแล้วแจ้งกับกลุ่มคนรากหญ้า เพราะคนกลุ่มนี้จะเชื่อถือกับกลุ่มผู้นำในชุมชนอยู่แล้ว ในฐานะสถาบันการศึกษาจะป้อนข้อมูลเหล่านี้ไปอยู่ในแพลตฟอร์ม สร้างมวลชนให้มีจิตอาสาไปดูแลแต่ละพื้นที่

“ระบบสารสนเทศไม่ต้องการให้เกิดความตื่นตระหนกแต่ให้เกิดความเข้าใจ และตื่นตัวมีกรณีที่บอกว่ามีน้ำพัดบ้านไปทั้งหลัง ผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่า น้ำไหลมาอย่างนี้ทุกปี แต่ว่าไม่ย้าย จะขยับแต่ไม่มีแผนที่ จึงสร้างบ้านเรือนในจุดที่น้ำไหลผ่าน ยังอยากอยู่ในพื้นที่เดิม แต่แผนที่บอกได้ว่าจะขยับไปแค่ไหน โดยโครงสร้างเศรษฐกิจไม่เสียหาย อยู่ที่การเรียนรู้เท่านั้นเอง”ดร.ใจทิพย์ย้ำ

ด้าน ศ.ดร.สันติ ขยายความถึงแพลตฟอร์มว่าข้อมูลภูมิประเทศที่ใช้ในการเตือนภัยในแพลตฟอร์มนี้แบ่งออกเป็น ชุดข้อมูลเตือนภัยดินโคลนไหลหลากและน้ำป่า ประกอบด้วย ตำแหน่งรูรั่วของมวลน้ำจากภูเขาสูงลงสู่ที่ราบ แนวไหลหลากของมวลน้ำ หมู่บ้านที่อ่อนไหวต่อภัยพิบัติดินโคลนไหลหลาก และชุดข้อมูลเตือนภัยน้ำท่วม ประกอบด้วย แนวร่อง แนวเนิน จุดเสี่ยง ถนนขาด และจุดแนะนำในการอพยพ นอกจากนี้ยังมีแนวน้ำหลาก ในกรณีที่น้ำล้นตลิ่งจากแม่น้ำสายหลักทั่วประเทศ ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ในการวางแผนในกรณีที่ “คันดิน” “คันกั้นน้ำแตก” ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศไทย โดยมีแผนจะจัดทำชุดข้อมูลเพิ่ม เพื่อสื่อสารและเตือนภัยพิบัติดินถล่ม สึนามิ และแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ศ.ดร.สันติ กล่าวต่อว่า จริงๆแล้วพื้นผิวโลกของเห็นได้ด้วยภาพถ่ายดาวเทียมอยู่แล้ว ซึ่งการถ่ายภาพด้วยดาวเทียมมีหลายลักษณะเช่นการถ่ายให้เห็นภาพ แต่ไม่รู้ความสูงความต่ำของพื้นที่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เราสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์โดยคอมพิวเตอร์โดยใช้เทคนิคสารสนเทศ หรือจีไอเอสวิเคราะห์ว่าตรงไหนคือร่อง ตรงไหนคือเนิน ตรงไหนคือยอด ตรงไหนคือพื้นที่ลุ่มต่ำ ข้อมูลเหล่านี้เอามาใช้เพื่อสื่อสารในแง่ภัยพิบัติ โดยเฉพาะภัยพิบัติน้ำท่วมช่วงเวลานี้ ซึ่งจีไอเอสคือศาสตร์หนึ่งที่ใช้กันทั่วโลกอยู่แล้ว ใช้วิเคราะห์เชิงพื้นที่ อะไรที่เป็นการกระจายตัวเชิงพื้นที่ เราสามารถเอาจีไอเอสเป็นเครื่องมือได้หมดและมีความแม่นยำ100 เปอร์เซนต์

  “สำหรับในพื้นที่แม่สายเราไม่จำเป็นต้องย้ายการตัดสินใจขึ้นอยู่กับพื้นที่ คนญี่ปุ่นไม่จำเป็นต้องหนีแผ่นดินไหวอยู่กับภัยพิบัติได้ ชุดแรกอยู่กับองค์ความรู้มากกว่า รู้ว่ามีภัยเป็นเพื่อนแล้วจะปฏิบัติตัวอย่างไร ถ้าตัดสินใจต้องย้าย แล้วย้ายไกลแค่ไหน ต้องย้ายอำเภอ ซึ่งเป็นอดุมคติ ถ้าเป็นผม ผมก็ไม่ย้าย เพราะความผูกพัน เพราะอยู่ตรงนี้ค้าขายดี เราไม่จำเป็นต้องย้าย ทำให้เหมือนญี่ปุ่นมีภัยแต่รู้ว่ามีภัยเป็นเพื่อน เราต้องทำตัวเองให้แข็งแรงกว่าภัย” ศ.ดร.สันติ กล่าวและว่าภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในพื้นที่อ.แม่สายจ.เชียงรายมีปัจจัยมาจากประเทศเพื่อนบ้าน อนาคตการนำเข้าข้อมูล จะมีการประสานเพื่อให้เกิดการนำเข้าข้อมูลจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มด้วยเช่นกัน

       ทั้งนี้แพลตฟอร์มจุฬาฯสามารถเข้าไปดูได้ที่ http://engagement.chula.ac.th