เมื่อวันที่ 12 ต.ค ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ งานเสวนา​ตามหาขุมทรัพย์ของกองทัพไทย การบริหารธุรกิจเชิงพาณิชย์ของกองทัพ​ ที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การทหาร​ สภาผู้แทน​ราษฎร​ โดยมีคณะกรรมาธิ​การ​ อดีตสื่อมวลชนและนักวิชาการร่วมเสวนา​ 

ทั้งนี้ นายสุภลักษณ์​ กาญจนขุนดี​ อดีตสื่อมวลชน กล่าวภายใต้หัวข้อ​ผูกขาดชั่วนิรันดร์ วิทยุโทรทัศน์ทหาร ระบุว่า​ ทหารถือใบอนุญาตทั้งวิทยุและ​โทรทัศน์​ มากกกว่า​ 200 ใบอนุญาต​ มากกว่ากรมประชาสัมพันธ์ ที่มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ถึง 2 เท่า เช่น​ สถานีวิทยุโทรทัศน์ ทบบ.5 ครอบครองไปอนุญาต 1 ใบ และ 1 คลื่นวิทยุ ตั้งมาเพื่อความมั่นคง แต่ไม่ตอบโจทย์ความมั่นคง เพราะมีเนื้อหาแค่ 8% เรตติ้งต่ำเตี้ยเรี่ยดิน มีผู้ชมแค่ 8,000 คน ​มีกำไรเพียงปี​ 2560 หลังจากนั้นขาดทุนมาโดยตลอด​ เป็นหน่วยงานของรัฐภายใต้กองทัพบก​ มีภาระหนี้สิน ที่ทำการกู้โยงกันไปมาภายหน่วยงาน​ และกู้เงินจากธนาคาร​ทหารไทย กว่า​ 1,615 ล้าน เพื่อลงทุนโครงการดาวเทียม​ ซึ่งสถานี ททบ.5 ต้องเป็นหนี้บริษัท​ RTA Entertainment​ ที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น​ RTA Enterprise และล่าสุดบริษัทดังกล่าว จากการตรวจสอบปี​ 2566 มีหนี้​ 1,005 ล้านบาท ทางสถานี ททบ.5 ยืนยันให้การสนับสนุนบริษัทนี้ต่อแม้ว่าจะขาดทุน​ เพิ่งพูดถึงหุ้น 49% ก็ยังคงเป็นกองทัพบก

โดยยัง​ระบุอีกว่า​ กองทัพบกจะแจ้งต่อระบบภาษีของ RTA Enterprise ได้อย่างไร​ เมื่อ พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม​ ไม่ได้ให้อำนาจหน่วยงานในสังกัดดำเนินการในเชิงพาณิชย์ และบรรดานายพลทั้งหลาย ที่เป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการบริษัท RTA Enterprise อยู่ได้อย่างไร ในเมื่อคำสั่งการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินปี 2519 ห้ามข้าราชการกระทรวงกลาโหม​ เป็นผู้จัดการบริษัท​ หรือกรรมการบริษัท หรือแม้แต่อ้างชื่อ​ 

ขณะที่ผู้บริหาร ททบ.5 มาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการหลายครั้ง ว่าบริษัทดังกล่าวกับสถานีไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรกัน​ แต่ยอมรับว่าบริษัทมีสถานะเป็นลูกหนี้ แต่ปฏิเสธที่จะบังคับการชำระหนี้​ ซึ่งอาจบอกได้ว่าหนี้นี้เป็นหนี้เสีย ที่อาจจะเป็นหนี้สูญ พร้อมมีข้อเสนอแนะว่าไม่ควรดำเนินธุรกิจต่อไป

ขณะที่นายเชตวัน เตือประโคน​ สส.ปทุมธานี พรรคประชาชน ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการฯ​ กล่าวภายใต้หัวข้อสนามกอล์ฟ​มีไว้ทำไมว่า​ สนามกอล์ฟ​ของกองทัพ มีทั้งสิ้น​ 57 แห่ง​ พื้นที่รวม​ 20,000 ไร่ กองทัพเรือ 4 สนาม​ กองทัพอากาศ 13 สนาม​ และกองทัพบก 40 สนาม โดยมี​ 4 สนามที่กองทัพไม่สามารถชี้แจงได้​ โดยเหตุผล​ของการมีสนามกอล์ฟนั้น​ กองทัพชี้แจงว่า เป็นสถานที่ออกกำลังกายของทหาร​ ใช้เป็นสถานที่รับรองแขกบ้านแขกเมือง​ ใช้ในการควบคุมค่าใช้จ่ายของสนามกอล์ฟเอกชน​ และสนามกอล์ฟกองทัพ มีไว้เพื่อการจัดการบริหารพื้นที่​ ใช้คำว่าเป็นเรื่องของความมั่นคง เพื่อหลีกเลี่ยงการตอบคำถาม​ ซึ่งในภายหลังกองทัพออกมาชี้แจงว่าเป็นสวัสดิการของทหารชั้นผู้น้อย​ โดยเสนอให้เปลี่ยนสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ เป็นสวนสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนกว่า​ 300,000 คน ที่อยู่โดยรอบ จะได้ใช้ประโยชน์​ การมีรายได้กำไร 11 ล้านต่อปี กับที่ดิน 600 กว่าไร่ มูลค่าที่ดินหมื่นกว่าหมื่น ถือว่าไม่คุ้มทุน เสียโอกาสในการทำรายได้ให้กับประเทศ เช่นเดียวกับสนามกอล์ฟอื่นๆ​ ควรทำเป็นสวนสาธารณะ​หรือศูนย์กลางคมนาคม 

ขณะที่ น.ส.เบญจา​ แสงจันทร์​ อดีต สส.บัญชี​รายชื่อ ​พรรค​ก้าวไกล​ กล่าวในหัวข้อ​ขุมทรัพย์​พลังงาน​ ว่า​ กองทัพไทยเป็นเจ้าของขุมทรัพย์ใต้ดินที่ผูกขาดมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ ท่ามกลางคนไทยที่ต้องใช้น้ำมันแพง โดยรายได้ไม่ต้องส่งคืนคลัง เป็นรายได้แผ่นดิน ใช้เหตุผลสำรองไว้เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน​ บ่อน้ำมันฝางที่อยู่ในพื้นที่การดูแลของส่วนพัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือของกรมการพลังงานทหาร ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 6 จังหวัด เชียงราย​ พะเยา​ ลำปาง เชียงใหม่ ลำพูน และแพร่ ซึ่งอยู่นอกกฎหมายปิโตรเลียมที่รัฐไม่ต้องสัมปทานให้ใคร​ ไม่ต้องรายงานการผลิต​ ซึ่งมีกำลังการผลิต 1% ของกำลังการผลิตทั่วประเทศ ซึ่งสวนทางกับข้ออ้างที่ว่าเป็นการสร้างหลักประกันความมั่นคงทางพลังงานของประเทศในห้วงวิกฤต​ิ แต่มีการตั้งคำถามว่ากองทัพต้องการครอบครองไว้เพื่อประโยชน์ของ​กองทัพ​หรือไม่ ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎหมาย​ 

น.ส.เบญจา​ กล่าวอีกว่า​ ต้องจับตาว่าจะมีการอนุมัติงบประมาณกว่า 400 ล้านบาท​ เพื่อให้ดำเนินกิจการดังกล่าวหรือไม่เนื่องจากมองแล้ว​ไม่คุ้มค่า​ ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานร่วมขนาด​ 10.4 เมกะวัตต์ ตนตั้งคำถามว่า​ รายได้มหาศาลในการลงทุนธุรกิจพลังงานครบวงจร เป็นเงินอุดหนุนที่เก็บไว้ใช้จ่ายในค่ายทหาร ไม่ต้องส่งคืนคลังเป็นรายได้แผ่นดินนั้นไปไหนหมด​ รวมไปถึงโรงแรมหรู 5 ดาวของกองทัพ​ รีสอร์ทสิรินพลา ระยอง​ ที่ใช้เงินอุดหนุนของบ่อน้ำมันฝาง​ ประสบภาวะขาดทุนสะสมต่อเนื่อง ในอนาคตจะเป็นภาระด้านงบประมาณที่รัฐและประชาชนจะต้องเข้าไปช่วยอุ้มธุรกิจต่อไปหรือไม่ ถึงเวลาและที่กองทัพจะต้องคืนสิทธิในทรัพยากรคืนคุณสมบัติของชาติ​ ให้รับนำไปจัดสรรและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นธรรมกับประชาชนทั้งประเทศ คืนทรัพยากรใต้ดินให้กับรัฐ​ เพื่อมอบสิทธิให้กับเอกชนเข้ามาสำรวจและผลิตนำทรัพยากรนี้มาใช้พัฒนาประเทศ และมั่นใจว่ารัฐจะได้เพิ่มขึ้น​ ส่วนโรงแรมริมหาด 5 ดาว ควรเปิดให้เอกชนเข้ามาพัฒนาพื้นที่เช่า​ บริหารแบ่งรายได้ส่งให้รัฐ เป็นสวัสดิการให้กับประชาชนและกำลังพลชั้นผู้น้อย เพื่อความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ถึงเวลาให้คืนนายทหารให้ประชาชน​ และคืนนายพลให้เขากลับไปทำงานในกองทัพ​ 

ขณะที่นายพิจารณ์​ เชาว์​พัฒนวงศ์​ กรรมการบริหารพรรค​ประชาชน​ กล่าวในหัวข้อ​ เจ้าที่ดิน ที่ดินของรัฐในมือกองทัพ​ ว่า​ ประเทศไทยมีเพียงจังหวัดเดียวที่ไม่มีที่ดินของทหาร​ คือ​ อ่างทอง โดยกองทัพบกมีที่ดินราชพัสดุมากที่สุด ขณะที่กรุงเทพฯ มีพื้นที่ชุมชนแออัดกว่า 600 ไร่ เมื่อเทียบกับทหารที่มีที่ดินมากมาย​ จึงนำมาซึ่งการตั้งคำถามถึงการใช้ประโยชน์ในที่ดินของกองทัพ​ โดยตั้งคำถามถึงอาณาจักรที่ดินที่มากมายและไม่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งข้อเท็จจริงที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ คือไม่ได้ส่งงบการเงินตามที่กรรมาธิการร้องขอ​ รวมไปถึงสนามมวย ที่มีรายได้มากที่สุด แต่กลับไม่ส่งงบการเงินให้กรรมาธิการ​ พร้อมกับระบุว่า​ ขอให้มองว่านโยบายปฏิรูปกองทัพ​ เป็นหนึ่งในนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ​ อย่าคิดว่าไกลเกินไป​ และไม่เกี่ยวข้องกับเรา เพราะหากงบไม่ได้เข้ากระเป๋ากองทัพก็จะประหยัดเงินที่จะต้องไปกู้จากธนาคารต่างประเทศ เพื่อให้ใช้จ่ายในโครงการพัฒนาต่างๆ ได้

ส่วนนายจิรัฏฐ์​ ทองสุ​ว​รรณ์​ สส.ฉะเชิงเทรา​ พรรคประชาชน กล่าวในหัวข้อ​ ธุรกิจชิลชิลๆ สากกะเบือยันเรือรบ​ ว่า​ กองทัพมีหลายกลุ่มธุรกิจ​ อย่างภาคการท่องเที่ยว ซึ่งสำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวและกีฬาที่สังกัดกองทัพบก​ มีค่ายทหารมากกว่าศาลากลางมีจำนวน 107 ค่าย มีสถานที่ท่องเที่ยวในค่ายกว่า 307 แห่งทั่วประเทศ ธุรกิจที่พัก​ที่มาควบคู่กับการท่องเที่ยว ธุรกิจพรีเวดดิ้ง​ โดยยังมีการตั้งข้อสังเกตว่ากองทัพมีงบประชุมสัมมนามากที่สุด แต่กลับไม่ไปพักยังสถานที่ของหน่วยงานตัวเอง​ การประกอบกิจการขนส่งมวลชน​ ธุรกิจเรือลอยอังคาร​ ธุรกิจเลี้ยงปศุสัตว์​และทำการเกษตร​ โดยมีความพยายามชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจของกองทัพมีหลากหลายประเภท แต่กลับไม่ทราบผลกำไร

นายจิรั​ฏ​ฐ์​ กล่าวว่า​ การทำงานตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา ของกรรมาธิการการทหาร​ ค่อนข้างยากลำบาก กองทัพไม่ให้ความร่วมมือ​ โดยเฉพาะการของบย้อนหลัง​ ปฏิเสธการถูกตรวจสอบ​ นอกจากนี้ยังระบุอีกว่า คงไม่เกินจริงเกินไปที่กองทัพ มีอิสระในการสร้างรายได้หาผลประโยชน์เข้ากระเป๋า แย่งงาน​ แย่งอาชีพ​ของประชาชน​ และทหารเองมีต้นทุนทางที่ดินจำนวนมากเกินความจำเป็น​ และงบประมาณปีละ 2 แสนล้าน รวมไปถึงกำลังพลผลัดเปลี่ยนเข้ามา 100,000 คนทุกปี เราไม่ได้อยู่ในสภาวะสงคราม ปัญหาคือทรัพยากรที่กองทัพมี ถือครองมากเกินไปเกินความจำเป็น จึงหารายได้เข้ากระเป๋า หากเป็นไปได้ข้อเสนอของตน อยากให้พิจารณาทบทวนทรัพยากรที่จะสั่งให้กองทัพใหม่

ด้านนายธนาธร​ จึง​รุ่งเรืองกิจ​ ประธานคณะก้าวหน้า​ กล่าวในหัวข้อ​ ข้อเสนอผลประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ ต้องโปร่งใสและเป็นธรรม ว่า​ การทำงานของคณะกรรมาธิการ ถือว่าสมบูรณ์ที่สุดเวลาพูดถึงกองทัพพาณิชย์ การปฏิรูปพาณิชย์กองทัพ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการปฏิรูปกองทัพ ซึ่งพรรคประชาชนยังไม่ได้ประกาศ แต่จะนำนโยบายของก้าวไกลมาพัฒนา ซึ่งการปฏิรูปกองทัพ รัฐบาลต้องอยู่เหนือกองทัพ และกองทัพต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้ ทหารต้องออกจากการเมือง ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง 7 ปีหลังจากเกษียณราชการ แก้ไข พ.ร.บ.สภากลาโหม ยกเลิกศาลทหารในสถานการณ์ปกติ​ ลดขนาดกองทัพลงร้อยละ 30 ลดจำนวนนายพลให้เหลือแค่ 400 นาย ยกเลิกการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ เพิ่มสวัสดิการเพิ่มแรงจูงใจในการสมัครเข้ารับการเกณฑ์ทหาร ยกเลิก กอ.รมน. นำงบประมาณและบุคลากรมาจัดสรรใหม่ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะผลักดันให้เป็นจริง แต่สิ่งที่จับต้องได้คือ ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก กอ.รมน. สถานะถูกนายกรัฐมนตรี​ นายเศรษฐา​ ทวีสิน​ ปัดตน ไม่ได้เข้าสภา​ ด้วยให้เหตุผลว่าเป็นร่างที่อำนาจไม่เกี่ยวข้องกับนายกฯ​ ส่วนร่าง พ.ร.บ​วินัยการเงินการคลัง การยกเลิกเงินนอกงบประมาณของกองทัพถูกตีตก​ เช่นเดียวกับร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม ที่จะปฏิรูปกองทัพ ธุรกิจกองทัพถูกตีอยู่ในกองทุนสวัสดิการ เงินนอกงบประมาณ และการลงทุนในบริษัท นายธนาธร​ ยืนยันว่า​ การปฏิรูปกองทัพ ไม่ใช่การลดสวัสดิการทหารชั้นผู้น้อย เพราะงานการใช้งบประมาณจากธุรกิจกองทัพมีความไม่แน่นอน เหมือนการของบประมาณ