สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ได้จัดงาน “Books from Taiwan: Read Taiwan in Thai” ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 (Book Expo Thailand 2024) เดือนตุลาคมนี้ โดยได้มีการเชิญนักเขียนไต้หวันอย่าง เฉินซือหง เจ้าของผลงานหนังสือเรื่อง “โกสต์ทาวน์ (鬼地方)” รวมถึง เซียวเซียงเสิน และเซวียซีซือ เจ้าของผลงานหนังสือเรื่อง “ปริศนาตะเกียบอาถรรพ์ (筷: 怪談競演奇物語)” มาพบปะและร่วมสนทนากับผู้อ่านและนักแปลชาวไทยเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมไทยและไต้หวัน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับรู้ถึงความคิดสร้างสรรค์ของนักเขียนไต้หวันอย่างลึกซึ้ง

โดยสำนักพิมพ์ไทยยังได้เลือกเปิดตัวหนังสือ “โกสต์ทาวน์ (鬼地方)” ในงานครั้งนี้ด้วย นอกจากนี้ หนังสือทั้งสองเล่มนี้ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องผีและเรื่องราวลึกลับ ซึ่งตรงกับธีมของงานมหกรรมหนังสือในครั้งนี้พอดิบพอดี ทำให้ไม่มั่นใจว่านี่คือเรื่องบังเอิญหรือมีสิ่งลึกลับกำหนดไว้แล้ว

กุ้ยเย่ฉิน ผู้อำนวยการฝ่ายวัฒนธรรม สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย กล่าวในพิธีเปิดว่า “ในงานมหกรรมหนังสือครั้งนี้ นอกเหนือจากการเชิญนักเขียนไต้หวันมาเข้าร่วมงานแล้ว ยังมีบูธที่จัดแสดงหนังสือไต้หวันที่ได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ด้วย โดยหวังว่ากิจกรรมในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมผลงานหนังสือจากไต้หวันให้แก่สำนักพิมพ์ไทยเกิดความสนใจนำไปแปลเป็นฉบับภาษาไทย”

ดวงพร สุทธิสมบูรณ์ อุปนายกฝ่ายต่างประเทศสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) กล่าวเสริมว่า ”การแลกเปลี่ยนนี้มีความหมายอย่างยิ่งกับสำนักพิมพ์ไทย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีการจัดงานเช่นนี้ต่อไปในอนาคต”

ภายในกิจกรรม เฉินซือหง ได้กล่าวว่า “เรื่องโกสต์ทาวน์ ได้รับความนิยมอย่างมากในเวียดนาม เขาจึงตั้งตารอดูผลตอบรับจากผู้อ่านชาวไทยอย่างมาก”

เซวียซีซือ ก็ได้แนะนำวัฒนธรรมไต้หวันแก่ผู้อ่านชาวไทยว่า ที่ไต้หวัน ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับผีนั้นใกล้ชิดกันมากกว่าที่คิด ขณะที่ เซียวเซียงเสิน ได้อธิบายถึงวิธีการเขียนที่เขาใช้เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความสนุกและสนใจในเรื่องสั้นทั้งหลายที่ร้อยเรียงกันในหนังสือเรื่อง “ปริศนาตะเกียบอาถรรพ์”

ในช่วงกิจกรรมเวิร์กช็อปแลกเปลี่ยนด้านการแปล สิวิณี เตรียมชาญชูชัย นักแปลชาวไทยจากหนังสือเรื่อง “โกสต์ทาวน์” ได้แบ่งปันประสบการณ์ว่า เนื่องจากช่วงที่เธอแปลหนังสือเล่มนี้ตรงกับช่วงการระบาดของโรคโควิด19 จึงไม่ง่ายเลยในการติดต่อนักเขียน เธอจึงต้องพยายามคาดเดาความคิดของผู้เขียน โดยการศึกษาจากบทสัมภาษณ์ต่าง ๆ ของเฉินซือหง

นอกจากนี้ อัญชลี เตยะธิติกุล นักแปลชาวไทยจากหนังสือเรื่อง “ปริศนาตะเกียบอาถรรพ์” ยังได้เพิ่มคำอธิบายประกอบการแปลจำนวนมาก เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องราวต้นฉบับได้อย่างลึกซึ้ง ทำให้หนังสือฉบับแปลภาษาไทยมีความยาวถึง 700 หน้า ราวกับหนังสือสารานุกรมเรื่องผี โดยหนังสือเล่มนี้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการส่งเสริมการแปลและการตีพิมพ์ของกระทรวงวัฒนธรรมไต้หวัน และวางจำหน่ายตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาในปีนี้ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับจากผู้อ่านเป็นอย่างดี