จากกรณีที่บริษัทธุรกิจออนไลน์ชื่อดัง ดำเนินธุรกิจในลักษณะตัวแทนจำหน่าย โดยมีสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ และมีทีมผู้บริหารที่เป็นดาราชื่อดังมากมาย ได้ถูกจับตาจากโลกออนไลน์ และโยงไปถึงข่าวต่าง ๆ ว่ามีความต้องสงสัย ว่าการขายของออนไลน์เป็นลักษณะแชร์ลูกโซ่หรือไม่นั้น

เมื่อเวลา 12.10 น. วันที่ 12 ต.ค. ที่สำนักงานทนายคลายทุกข์ นายเดชา กิตติวิทยานันท์ หรือ ทนายเดชา ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าในคดีดังกล่าว ว่า ในส่วนของผู้เสียหายตอนนี้ ตนได้ประชาสัมพันธ์ผ่านทางช่องทางมีเดียของตน ว่าให้ผู้เสียหายเดินทางไปแจ้งความที่กองปราบปรามได้เลย ซึ่งทราบมาว่าตอนนี้เฉพาะใน กทม. มีผู้เสียหายเข้ามาแจ้งความแล้วกว่า 300 ราย

ส่วนกรณีที่เจ้าของบริษัทขายตรงดังกล่าว มีการโพสต์ข้อความแจ้งข่าวเตรียมหลักฐานแสดงความบริสุทธิ์ของธุรกิจ พร้อมตั้งศูนย์เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมขอให้บุคคลน่าเชื่อถือ ร่วมหารือแนวทางเยียวยา นั้น ทนายเดชา กล่าวว่า ในฐานะของทนายความ ขอวิเคราะห์ว่า ข้อความระบุถึงการสู้คดี ไม่สำนึกว่าตัวเองกระทำความผิด และมีความเชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองทำ เป็นการกระทำธุรกิจสุจริต ส่วนลักษณะการเขียน ก็น่าจะมาจากทนายความ หรือที่ปรึกษากฎหมายเป็นคนเขียนให้ “พูดง่ายๆคือเตรียมข้อมูลพยานหลักฐานพร้อมสู้ ” 

ส่วนเรื่องการตั้งศูนย์เยียวยา ตนมองว่า เป็นเพียงเทคนิคอย่างหนึ่งให้เรื่องจบโดยเร็วโดยไม่ต้องไปถึงศาล โดยอาจจะมีการจ่ายเงินคืนให้ เพื่อให้ผู้เสียหายไม่ต้องไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ทั้งนี้ ตนทราบว่า ขณะนี้มีแม่ทีมบางรายได้ติดต่อไปยังลูกทีมหรือดาวน์ไลน์ ให้มารับเงินคืน และให้เซ็นสัญญาบันทึกว่าจะไม่ไปแถลงข่าว ไม่ไปออกรายการ ไม่ให้สัมภาษณ์สื่อ ไม่ไปแจ้งความที่กองปราบปราม ไม่ติดใจดำเนินคดี ซึ่งลักษณะเช่นนี้คล้ายกับคดีแม่ตั๊ก ตอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เสียหายนำทองไปคืน

ทนายเดชา กล่าวต่อไปว่า ส่วนการที่เราจะรู้ว่ามีพฤติการณ์ใด ที่จะเข้าข่ายการถูกดำเนินคดีในคดีนี้บ้างนั้น เราเทียบเคียงพฤติการณ์การกระทำความผิดจากคำพิพากษาของคดีแชร์ลูกโซ่ในอดีต คือหากคนใดมีการกระทำที่เข้าข่ายชักชวนให้เข้าร่วมเครือข่าย ถึงแม้จะไม่ได้พูดคำชักชวนออกมา แต่อยู่ร่วมในกลุ่มที่มีการกล่าวพูดชักชวน และไม่ห้าม อย่างเช่น ในงานสัมมนาของบริษัทนั้น มีกลุ่มดาราขึ้นบนเวทียืนอยู่ด้วยกัน ถึงแม้จะไม่ได้พูดด้วยตัวเองว่าชักชวนมาร่วมเป็นเครือข่าย แต่ตนในฐานะทนายความวิเคราะห์ว่า ก็ถือว่ามีการกระทำความผิดด้วย เนื่องจากไม่มีการห้ามปราม ก็ถือว่าเป็นตัวการร่วมเช่นเดียวกัน

แต่ในส่วนของดารา ที่ทำหน้าที่เป็นเพียงพรีเซ็นเตอร์ พูดแนะนำถึงสินค้าเพียงอย่างเดียว และไม่ได้อยู่บนเวทีร่วมกับคนที่มีการชักชวนให้เข้าร่วมเครือข่ายตามงานสัมมนาหรืออีเวนต์ต่างๆ นั้น ตนวิเคราะห์ว่าไม่น่าเข้าข่ายกระทำความผิด และตำรวจอาจจะกันไว้เป็นพยาน ทั้งนี้ ถึงจะมีดาราบางคนออกมาให้สัมภาษณ์ว่าไม่เกี่ยวข้อง ไม่เป็นผู้บริหาร เป็นเพียงพรีเซ็นเตอร์นั้น พร้อมโชว์สัญญาระบุการเป็นพรีเซ็นเตอร์ ตนมองว่า ไม่ได้ช่วยให้ความผิดลดลงแต่อย่างใด เพราะเอกสารต่างๆ เหล่านี้ สามารถจัดทำขึ้นมาย้อนหลังได้ อีกทั้งความผิดสำเร็จแล้ว เพราะได้ค่าตอบแทนไปแล้ว อย่างไรไม่รอดแน่นอน

ทนายเดชา ยังระบุถึงการแจ้งความเอาผิดและดำเนินคดีว่า คาดว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะแบ่งกลุ่มผู้กระทำความผิดที่คาดว่าจะโดนแจ้งข้อกล่าวหา ประกอบด้วย กลุ่มเจ้าของบริษัท เจ้าของกิจการ กรรมการทุกคนที่มีรายชื่อ ผู้ถือหุ้น กลุ่มผู้บริหารระดับบอสทั้งหลายที่มีการบริหาร ซึ่งอาจจะรวมถึงดาราบางราย กลุ่มแม่ทีมแม่ข่ายที่เป็นต้นเครือข่ายในการหารายชื่อคนมาเข้ากลุ่มและสร้างแรงบันดาลใจให้เข้าร่วมได้ กลุ่มผู้คิดกลยุทธ์และกำหนดแผนการตลาดต่างๆ รวมถึงกลุ่มผู้คิดค้นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งในส่วนนี้ก็คงต้องให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบ

“ผู้เสียหายไม่ต้องกังวลว่าแม่ทีมหรือผู้ที่ชักชวนจะไม่ถูกดำเนินคดี เพราะตอนที่พาผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์นั้น ได้แจ้งความเอาผิดครอบคลุมทั้งเจ้าของบริษัทและพวกที่พบเห็นว่ากระทำผิดชักชวนให้เข้าร่วมเครือข่ายแล้ว นอกจากนี้ เมื่อวานตนยังเห็นคลิปของพระรูปหนึ่งที่มีชื่อเสียง มีการพูดคล้ายชักชวนให้เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจของบริษัทนี้ จึงอยากขอให้สำนักงานพระพุทธศาสนา ลงมาตรวจสอบด้วยเช่นกัน”

ทนายเดชา ยังกล่าวต่อไปว่า ในส่วนของข้อหาที่ผู้บริหารบริษัทขายตรงและตัวการร่วมจะถูกแจ้งข้อกล่าวหา คือมีความผิดตาม พ.ร.ก.กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 12 โดยมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 10 ปี