เมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การทหาร สภาผู้แทนราษฎร กล่าวในการเสวนา “ตามหาขุมทรัพย์แสนล้านกองทัพไทย” ตอนหนึ่งว่า การปฏิรูปกองทัพมีองค์ประกอบย่อยหลายอย่าง หนึ่งในเรื่องที่สำคัญ คือการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร แล้วสร้างระบบการรับสมัครทหารกองประจำการ แบบสมัครใจ 100% เพราะปัจจุบันประเทศไทย มีหน่วยรบพิเศษจำนวนมาก ซึ่งมีการฝึกมนุษย์เหล็กที่มีความโหด และหนักมาก แต่ กมธ.การทหาร ไม่เคยได้รับข้อร้องเรียนใดๆ จากการฝึกหน่วยรบพิเศษเลย เพราะเป็นการฝึกที่มีแบบแผน คนที่เข้ารับการฝึกล้วนมาจากความสมัครใจ และรู้อยู่ก่อนแล้วว่าจะเจอกับการฝึกแบบไหน ทำให้ครูฝึกทำงานง่าย ผู้เข้ารับการฝึกก็ทำงานง่าย สุดท้ายหน่วยรบพิเศษจึงเป็นการพัฒนานักรบที่มีประสิทธิภาพสำหรับกองทัพ ดังนั้นยืนยันว่าความสมัครใจเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยได้นักรบหรือทหารมืออาชีพ

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า ขณะที่เปิดโครงการพลทหารปลอดภัย ก็มีเรื่องร้องเรียน 38 เรื่อง ส่วนหนึ่งยอมรับว่าเกิดจากปัญหาที่ตัวพลหารเอง ทั้งความไม่พร้อม ปัญหายาเสพติด หลายกรณีมาจากความไม่พร้อมและไม่สมัครใจในการเป็นทหาร ทำให้ครูฝึกดำเนินการฝึกได้ไม่เป็นไปตามแผน หลายครั้งเป็นการระบายอารมณ์ ใช้ความรู้สึกส่วนตัว กระทำการเข้าข่ายเป็นการซ้อมทรมาน แต่อ้างกับ กมธ.ทหาร ว่าพลทหารทำความผิดอย่างร้ายแรง ล่าสุดกรณี พลทหาร วรปรัชญ์ พัดมาสกุล ที่เสียชีวิตนั้น ผลการชันสูตรชัดเจน เข้าข่ายต้องสงสัยเป็นการซ้อมทรมาน ซึ่งเราได้ชี้เบาะแส รวบรวมข้อเท็จจริงส่งให้กับ DSI, อัยการฝ่ายสำนักการสอบสวนบ้าง ส่วน พลทหาร ศิริวัฒน์ ใจดี ได้ส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมาน เพื่อพิจารณาสอบสวนสืบสวนข้อเท็จจริงและดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทำร้ายและการกระทำที่ทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 (พ.ร.บ.อุ้มหาย) โดย พ.ร.บ. นี้ จะไม่ขึ้นศาลทหาร แต่ขึ้นศาลอาญาทุจริต ที่สำคัญคือมาตรา 42 จะมีการเอาผิดกึ่งหนึ่งกับผู้บังคับบัญชาด้วย ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีครั้งใดที่กองทัพจะเอาผิดนายทหารระดับบังคับบัญชาอย่างจริงจังตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย ทำให้ประชาชนตั้งข้อสงสัยว่าศาลทหารยังสร้างความมั่นใจให้กับพลเรือนอยู่หรือไม่

นายวิโรจน์ กล่าวว่า ตนขอให้กระทรวงกลาโหม ออกระเบียบอิงกับ พ.ร.บ.อุ้มหาย ซึ่งโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิตกรณีผู้ถูกกระทำเสียชีวิต หรืออิงกับ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 โดยเฉพาะมาตรา 13 ข้าราชการที่เกี่ยวข้องต้องมีความรับผิดถึง 2 เท่า ไม่เช่นนั้นก็จะไม่เห็นการเอาผิดผู้บังคับบัญชา ประชาชนจะสงสัยวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด ล่าสุดนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่าจะพิจารณาออกระเบียบเรื่องนี้ ตนก็จะติดตามต่อไป อย่างไรก็ตาม กมธ.ทหาร ได้ส่งหนังสือถึงเจ้ากรมพระธรรมนูญแล้ว เพื่อขอข้อมูลในรอบ 10 ปี ที่มีการซ้อมทรมานพลทหารหรือทหารชั้นผู้น้อยในค่ายทหารว่าผลเป็นอย่างไร ยศของผู้กระทำอดีต และปัจจุบันเป็นอย่างไร แต่จากการติดตามพบว่าผู้กระทำแค่ถูกขัง 45 วัน ถูกกักบริเวณงดบำเหน็จ ไม่ได้ขึ้นเงินเดือน ไม่ได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง แต่โทษเพียงเท่านี้ ไม่เพียงพอที่จะยุติหรือขจัดปัญหาการซ้อมทรมานของพลทหารในค่ายทหารได้

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องเสนาพานิช ซึ่งที่ผ่านมามักมีการอธิบายถึงความจำเป็นต้องใช้เงินนอกงบประมาณไปกับการจัดการสวัสดิการนายทหารชั้นผู้น้อย แต่พบว่าพลทหารมีปัญหาหนี้สิน จากข้อมูลทุกเหล่าทัพ มีทหาร 250,570 นาย คนที่ถูกหักเงินกู้สหกรณ์ จนเหลือเงินเดือนน้อยกว่า 30% มีจำนวน 53,210 นาย หักแล้วเหลือเงิน 9,000 บาท จำนวน 81,030 นาย คิดเป็น 32% ในขณะที่ ครม. สมัยที่นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ มีมติห้ามหักเงินเดือนจนเหลือน้อยกว่า 30% แต่เหล่าทัพต่างๆ กลับไม่ปฏิบัติ เว้นกองทัพอากาศ ที่ออกประกาศว่าจะไม่หักเงินเดือนกำลังพลให้เหลือต่ำกว่า 30% และไม่ต่ำกว่า 9,000 บาท ในส่วนอื่นๆ เราก็จะติดตามต่อไป

“นายพลจำนวนไม่น้อย มีตำแหน่งในสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ และได้ผลประโยชน์จากดอกผลจากการปล่อยกู้กับนายทหารชั้นผู้น้อย ผมไม่ได้บอกให้เบี้ยวหนี้ แต่การจะปล่อยให้ใครกู้ จะต้องเช็กเครดิตด้วย ไม่ใช่ปล่อยกู้ไม่อั้น แล้วหวังจะได้ดอกเบี้ยจากเขา แล้วคุณก็อยู่ในฐานะเจ้านายและเจ้าหนี้ นี่เป็นการเหนี่ยวรั้งไม่แก้ไขระเบียบไม่ให้หักเงิน ให้เหลือน้อยกว่า 30% หรือน้อยกว่า 9,000 บาท หรือไม่” นายวิโรจน์ กล่าว

นายวิโรจน์ ยังกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ การดูแลสวัสดิการทหารชั้นผู้น้อยอย่างสมเหตุสมผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่แหล่งเงินที่นำมาใช้ ซึ่งเราไม่ได้เจตนาทวงทุกอย่าง เงินนอกงบประมาณของกองทัพคืนกลับมาดื้อๆ แต่ที่ต้องการคือความโปร่งใส อะไรที่ตอบไม่ได้ว่าเกี่ยวพันกับภารกิจกองทัพอย่างไร ก็ควรจะถ่ายโอนคืนกลับมาให้อยู่ภายใต้การบริหารของรัฐ ที่อาจจะมีประสิทธิภาพมากกว่า เช่น คลื่นโทรทัศน์ ที่ทหารถือครองไว้ แต่หาข้อมูลได้ยากลำบาก ต้องสงสัยว่าจะขาดทุนสะสมมหาศาล สะท้อนถึงความไม่มีประสิทธิภาพ ควรผ่องถ่ายคืนให้กับรัฐ ที่มีความสามารถในการบริหารได้มีประสิทธิภาพมากกว่าหรือไม่ แต่เหตุผลที่ไม่ถ่ายโอนคืนมาคืออะไร นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายธุรกิจ ทั้งสนามกอล์ฟ สนามมวย และอื่นๆ ยืนยันว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือความโปร่งใส ถูกใช้เพื่ออุดหนุนดูแลสวัสดิการนายทหารชั้นผู้น้อยเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่หากเงินนอกงบประมาณถูกใช้อย่างไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ปกปิดอำพราง ไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้ สิ่งที่อ้างว่าทำเพื่ออาหารชั้นผู้น้อย ก็ยากที่ประชาชนจะเชื่อได้อย่างวางใจ 100%

“ยืนยันว่า สิ่งที่เราทำอยู่ไม่ใช่การเป็นศัตรูกับกองทัพ แต่เราต้องการทำให้กองทัพแข็งแรง ให้กองทัพมีนักรบที่มีประสิทธิภาพ มีกองทัพที่ประชาชนพึ่งพาได้ มีกองทัพที่ปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างดีเยี่ยม ไม่ใช่เอาเวลาทรัพยากรไปปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจหลักของตัวเอง”นายวิโรจน์ กล่าว.