เมื่อวันที่ 11 ต.ค. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 4/2567 โดยมีนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย และนายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมว่า การประชุมวันนี้ เป็นครั้งแรกในฐานะประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ การติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่มในพื้นที่ภาคเหนือในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันยังมีพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัย 19 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก พิษณุโลก นครสวรรค์ สุโขทัย อุดรธานี กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ มหาสารคาม อุบลราชธานี ชัยนาท สิงห์บุรี สุพรรณบุ รีอ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และนครปฐม ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งบริหารจัดการน้ำให้กลับคืนสู่ภาวะปกติ รวมถึงเร่งเยียวยาผู้ประสบภัย และฟื้นฟูพื้นที่ให้กลับสู่สภาพเดิมโดยเร็วที่สุด 

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า นอกจากจากการบริหารจัดการน้ำเพื่อเร่งลดผลกระทบต่อประชาชนในช่วงฤดูฝนแล้ว กนช. ยังให้ความสำคัญต่อการเตรียมพร้อมรับมือฤดูแล้งปี 2567/68 ที่จะมาถึงในวันที่ 1 พ.ย. 67 นี้ จึงมีมติเห็นชอบ (ร่าง) มาตรการรองรับ ฤดูแล้ง ปี 2567/2568 ตามที่ สทนช. เสนอ จำนวน 8 มาตรการ ซึ่งนำผลการถอดบทเรียนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้งปีที่ผ่านมา มาปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ให้สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้อย่างทันท่วงที โดยแบ่งเป็น 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านน้ำต้นทุน โดยมาตรการที่ 1 คาดการณ์และป้องกันพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ, มาตรการที่ 2 สร้างความมั่นคงน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรพร้อมปฏิบัติการเติมน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ, ด้านความต้องการใช้น้ำ โดยมาตรการที่ 3 กำหนดแผน จัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด, มาตรการที่ 4 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำและลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วน, มาตรการที่ 5 เฝ้าระวังและแก้ไข คุณภาพน้ำ, ด้านการบริหารจัดการ โดยมาตรการที่ 6 เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำของชุมชน/องค์กรผู้ใช้น้ำ, มาตรการที่ 7 สร้างการรับรู้ประชาสัมพันธ์ และมาตรการที่ 8 ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน โดยมอบหมายให้ สทนช. แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการตามมติ กนช. และเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป 

ขณะที่นายสุรสีห์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2568 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับ มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/68 พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินการให้ สทนช. ทราบทุกเดือน จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูแล้ง เพื่อให้การขับเคลื่อนมาตรการเป็นไปตามแผนและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ ให้คณะกรรมการลุ่มน้ำนำมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/68 ไปดำเนินการร่วมกับแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งของลุ่มน้ำ ปี 2567/68 และให้หน่วยงานเตรียมแผนงานโครงการ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2568 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันต่อสถานการณ์ ซึ่ง สทนช. จะติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด.