เมื่อเวลา 12.10 น. วันที่ 11 ต.ค. 2567 ที่กระทรวงกลาโหม นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ประชุมสภากลาโหมว่า ได้มีการพูดคุยกับผู้บัญชาการเหล่าทัพและมีผลสรุปแต่ละขั้นตอน คือ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น ซึ่งมีทั้งหมด 3 ขั้นตอน 1. ในส่วนของการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นนั้น ตนเองต้องขอชื่นชมเหล่าทัพ พร้อมให้กำลังใจ เพราะว่าหลังจากเกิดเหตุ รัฐบาลไม่ต้องสั่งการอะไร เพราะทหารนั้น ปฏิบัติหน้าที่ในการลงไปช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดภัย สามารถเข้าถึงพื้นที่และทำงานได้ทันที 

นายภูมิธรรม กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นจึงมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ส่วนหน้าขึ้นซึ่งมี น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย และ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม ที่ได้ปฎิบัติหน้าที่อยู่ ซึ่งก็ได้ให้เวลา 30 วัน ในการแก้ปัญหา อีกทั้ง จากผลสรุปรายงานที่ตนได้ทราบนั้น ตนยอมรับว่าน้ำท่วมในครั้งนี้ เป็นการท่วมพิเศษ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 

นายภูมิธรรม กล่าวว่า 2.เรื่องของการฟื้นฟูทางทหารได้มีการพิจารณาแล้วว่าวงเงินเยียวยา 9,000 บาท ที่มอบให้ผู้ได้รับผลกระทบนั้น ยังไม่สามารถช่วยฟื้นฟูได้ทั้งหมด แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเสริมกำลังใจ ซึ่งได้มีการมอบหมายให้จัดการประชุมและหาทางออก ว่าจะใช้กฎระเบียบหรือนโยบายอย่างไร ในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลือได้มากขึ้น

นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า 3.การแก้ไขปัญหาระยะยาว ได้มีการพูดคุยถึงการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ระยะยาว โดยในส่วนของแม่น้ำสาย อาจจะต้องมีการขุดลอกใหม่ โดยในที่ประชุมสภากลาโหม ได้มีการนำภาพถ่ายดาวเทียมของบริเวณดังกล่าวมาดูในที่ประชุม และเห็นว่าทางน้ำเหลือเพียงแค่ 20 เมตรเท่านั้น จึงคิดว่าต้องดำเนินการทันที หลังจากปัญหาเฉพาะหน้าได้ผ่านพ้นไป โดยจะมีการเรียกประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ในวันที่ 15 ต.ค. 2567 เพื่อพิจารณาว่าจะทำอย่างไรในด้านการหารือกับเมียนมา 

นายภูมิธรรม กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ทางกฎหมายและกรมสนธิสัญญา กระทรวงการต่างประเทศ และกองบัญชาการกองทัพไทย ได้มีการประสานกับทางการประเทศเมียนมาเพื่อจะพูดคุยกันแล้ว ว่าอาจจะต้องมีการผลักดันพื้นที่รุกล้ำออกไปทั้งหมดทั้ง 2 ฝ่าย ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถพูดคุยกันได้ ส่วนเรื่องอื่น ๆ ก็จะต้องดูว่าสามารถแก้ไขอย่างไรได้บ้าง เช่น เรื่องดิน และถึงที่สุด หากแก้ไขปัญหาไม่ได้ อาจจะถึงขั้นต้องเปลี่ยนแปลงหรือย้าย ซึ่งเป็นเรื่องที่เรากำลังคิดกันอยู่ เพราะเรากำลังคาดการณ์ว่าหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นทุกปี ในระยะเวลาไม่ถึง 100 ปี บ้านเมืองที่อยู่ในบริเวณนั้น ก็อาจกลายเป็นเมืองใต้ดินไปได้ จากการถูกสิ่งต่าง ๆ ทับถม

เมื่อถามอีกว่าหากมีการย้ายเมือง จะต้องมีการเวนคืนพื้นที่เพื่อรองรับด้วยหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า กรณีดังกล่าวขอให้เป็นกรณีสุดท้าย หากไม่สามารถแก้ไขด้วยวิธีอื่นได้แล้วจริง ๆ เนื่องจากจะต้องดูทั้งเรื่องทำเลที่ตั้งงบประมาณ และเรื่องอื่น ๆ ด้วย

เมื่อถามว่าสำหรับมาตรการรองรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลาง และภาคใต้นั้น นายภูมิธรรม กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลก็ได้ดูแลสถานการณ์ทั่วประเทศอยู่แล้ว โดยขณะนี้ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ เริ่มมีฝนตก จึงได้มีการสั่งการให้มีการป้องกันสถานการณ์อุทกภัย ในทุกพื้นที่ดังกล่าวไว้แล้ว