นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือน ก.ย. 67 ว่า ดัชนีทุกรายการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และต่ำสุดในรอบ 17-22 เดือน นับตั้งแต่เดือน ส.ค. 66 โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ที่ค่าดัชนีของทุกภาคต่ำกว่า 50 ยกเว้นภาคตะวันออก เนื่องจากผลกระทบน้ำท่วมใหญ่ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศที่คาดเสียหาย 30,000-40,000 ล้านบาท แม้รัฐบาลแจกเงิน 10,000 บาทให้กลุ่มเปราะบาง โดยใช้งบกว่า 145,000 ล้านบาทเสร็จแล้ว แต่ยังไม่ทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น ประกอบกับ ดัชนีทางเสถียรภาพทางการเมือง ลดลง จึงทำให้ความเชื่อมั่นไม่โดดเด่น

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงอื่นอีก เช่น สงครามในตะวันออกกลางที่รุนแรงขึ้น ความกังวลค่าครองชีพอยู่ในระดับสูง รายได้ยังไม่เพียงพอกับรายจ่าย คนยังระมัดระวังการใช้จ่าย เห็นได้จากดัชนีความเหมาะสมการซื้อบ้านใหม่ ซื้อรถยนต์คันใหม่ ท่องเที่ยว ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ทำให้เห็นภาพว่า เศรษฐกิจไทยยังซึมตัว และยังไม่มีสัญญาณปรับขึ้น

“บรรยากาศน้ำท่วมที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน จนมาขณะนี้คนกังวลว่าจะลามถึงภาคกลาง กรุงเทพฯ เป็นจิตวิทยาเชิงลบที่กลบความเชื่อมั่นเชิงบวกของการแจกเงินหมื่นบาท จึงฉุดให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และหอการค้าไทยต่ำสุดรอบ 14-22 เดือน เพราะคนยังไม่กล้าใช้จ่าย ทำให้เห็นภาพว่า การกระตุก กระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่ได้ผล และบรรยากาศเศรษฐกิจไทยแย่สุดในรอบเกือบ 2 ปี”

ทั้งนี้รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการเพิ่มเติมเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หากจะให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นไปได้ถึง 2.8% แต่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า จะขยายตัวได้แน่ 2.6% ซึ่งมองว่า ในช่วงปลายปีเหมาะสมจะออกมาตรการใหม่ๆ อย่างคนละครึ่ง หรือชิม ช้อป ใช้ โดยอาจเปลี่ยนชื่อใหม่ แต่ยังคงคอนเซปต์เดิม เช่น มาตรการกระตุ้นคูณ 2 ที่หอการค้าไทยเคยเสนอไปแล้ว

ขณะเดียวกัน มองว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% สามารถดำเนินการได้ หรือลดลงได้อีก 0.25% เพราะเงินเฟ้อไทยปีนี้ไม่สูงเกิน 1% ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ 0.2-0.8% ค่ากลาง 0.5% ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยยังซึมตัว อีกทั้งธนาคาคกลางสหรัฐ (เฟด) อาจลดดอกเบี้ยลงอีก หากไทยไม่ลด จะยิ่งทำให้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นอีก เพราะหากสหรัฐลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ในเดือน พ.ย.นี้ รวมเป็น  0.75% มาอยู่ที่ 4.75% แต่ไทยยังเท่าเดิมที่ 2.5% จะทำให้ช่องว่างของดอกเบี้ยไทยและสหรัฐแคบลง และกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ไทยจึงต้องลดดอกเบี้ยเพื่อทำให้ช่องแคบกลับไปห่างกันใกล้เคียงระดับเดิมที่ 2.5%

“สิ่งที่ต้องจับตาคือ วันที่ 16 ต.ค.นี้ ที่คลังและธปท.จะหารือกันเรื่องกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ที่คลังต้องการให้อยู่ที่ 1.5-3.5% แต่ธปท.อยากให้อยู่ที่เดิม 1-3% ซึ่งจะมีผลต่อการลดดอกเบี้ยนโยบาย เพราะหากอยู่ที่ 1-3% ถือว่ายังต่ำอยู่ และเงินเฟ้อไทยปีนี้ไม่เกิน 1% แน่นอน ธปท.อาจมองว่า เป็นระดับที่เหมาะสมกับการระดมเงินออม แต่คลังก็อาจมีมุมมองที่ต้องการให้ลดลงตามกระแสโลก เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และเยียวยาเศรษฐกิจ ซึ่งยังไม่รู้วา ธปท.จะตอบสนองหรือไม่ และวันเดียวกันนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อีก ก็ต้องจับตาดูว่า จะประกาศลดดอกเบี้ยหรือไม่”