เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 67 ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความพระพุทธะอิสระ ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้วินิจฉัยสั่งให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทย (พท.) เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพนำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า ตนยังไม่ได้ดูรายละเอียดคำร้อง แต่ยืนยันหลักการที่เคยยืนยันมาตลอดที่จะใช้นิติสงคราม แม้จะไม่เห็นด้วยกับการบริหารประเทศหลายเรื่องของพรรคเพื่อไทย แต่คิดว่าการที่พรรคเพื่อไทย จะเสื่อมศรัทธาหรือไม่ได้รับการสนับสนุน ควรเป็นเรื่องที่ประชาชนเป็นคนตัดสิน ย้ำว่าเราไม่เห็นด้วยกับการใช้นิติสงคราม

“ขอใช้โอกาสนี้ ในการเรียกร้องไปยังพรรคการเมืองทุกพรรค ไม่ใช่เฉพาะพรรคเพื่อไทย เพราะวันนี้ไม่ใช่เฉพาะเรื่องที่พรรคการเมืองถูกยุบ หรือพรรคการเมืองนั้นได้ประโยชน์ พรรคการเมืองนี้เสียประโยชน์ แต่วันนี้ต้องยอมรับว่า การที่พรรคการเมืองก่อตั้งกันมาด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนจำนวนมาก ไม่ควรตายกันง่ายๆ และอยากเรียกร้องไปยังทุกพรรคการเมืองว่านี่คือความจำเป็นที่เราต้องปลดอาวุธนิติสงครามที่กำลังดำเนินไปอย่างบ้าคลั่ง หากคิดว่าเรื่องเหล่านี้ท่านไม่มีความกล้าหาญที่จะดำเนินการ ก็จะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะปลดอาวุธนิติสงคราม ก่อนหน้านี้เป็นพรรคก้าวไกลที่ถูกยุบ แต่หลังจากนี้จะเป็นพรรคการเมืองใด ก็ตอบไม่ได้ แต่เชื่อว่าคงจะมีพรรคการเมืองอื่นเรื่อย ๆ ที่ถูกยุบ แล้วถามว่าการเมืองที่มีเสถียรภาพจะอยู่ตรงไหน” นายรังสิมันต์ กล่าว

เมื่อถามว่า การที่ยื่นคำร้องว่าพรรคเพื่อไทยล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น เพราะก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทย เคยจับมือกับพรรคก้าวไกล นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ไม่น่าจะเกี่ยวกัน หากพูดถึงเหตุการณ์ในอดีต ว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง ก็ต้องถามว่าวันนี้เราอยู่ในการปกครองที่ถูกล้มล้างแล้วหรือ วันนี้การปกครองก็อยู่ในลักษณะแบบเดิม อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าพฤติการณ์ของสภาชุดที่แล้ว ไม่น่าเอามาผูกโยงว่าเป็นการล้มล้างการปกครองได้ บางครั้งวันนี้ก็มีบรรดานักร้องทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นโดยไม่รู้จบ เพราะมองว่าหากไม่ชอบพรรคการเมืองนี้ ก็จะหาช่องทางในการร้อง และการเมืองแบบนี้เป็นการเมืองที่ไม่ดี แล้วอะไรคือความเป็นธรรมของคนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง.