ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดบ้านสำโรงพลัน ต.สำโรงพลัน อ.ไพรบึง จ.ศรีสะเกษ พระครูพิศาลพัฒนโกวิท เจ้าคณะตำบลสำโรงพลัน เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผวจ.ศรีสะเกษ ประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธียกเสาเอกเสาโทกรรชัรร์โฎนตา บูชาบรรพบุรุษ บายศรีบ้าน สู่ขวัญเมือง รุ่งเรืองเมืองศรี 242 ปี จ.ศรีสะเกษ โดยมีนายฉลาด ชิดชม นายอำเภอไพรบึง พร้อมด้วย นายศักดิ์ชาย ปัญญาทรงรุจิ นายกเทศมนตรีตำบลไพรบึง นายประสบผล สุภาพ นายกเทศมนตรีตำบลสำโรงพลัน นายพงศ์ณพัช สุภาพ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอไพรบึง ผู้บริหารท้องที่/ท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะครู นักเรียน นักศึกษา และชาวบ้านในพื้นที่ ให้การต้อนรับและร่วมพิธี

นายฉลาด กล่าวว่า วัดบ้านสำโรงพลัน ก่อตั้งเป็นวัดในพระพุทธศาสนา เมื่อปี พ.ศ. 2530 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2520 มีเนื้อที่ จำนวน 13 ไร่ มีเจ้าอาวาสปกครองวัดมาแล้ว 20 รูป ปัจจุบันมี พระอธิการนุ่ม อัคคปัญโญ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เมื่อปี พ.ศ. 2565 ซึ่ง พระอธิการนุ่ม อัคคปัญโญ เจ้าอาวาสวัดบ้านสำโรงพลัน พร้อมด้วยคณะกรรมการบ้านสำโรงพลัน หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 13 และหมู่ที่ 15 ได้ดำเนินการก่อสร้างหอระฆัง ขนาดความกว้าง 3.50 เมตร ความสูง 15 เมตร งบประมาณในการก่อสร้าง 1,550,000 บาท และได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์หอระฆังขึ้น เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565

โดยมีพระอธิการนุ่ม อัคคปัญโญ เจ้าอาวาสวัดบ้านสำโรงพลัน ได้มีแนวคิดในการสร้างหอระฆังด้วยการนำต้นตระกูลนามสกุลต่างๆ ของบรรพชนที่ร่วมกันสร้างบ้านสำโรงพลัน ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แสดงถึงอัตลักษณ์ ตำนานบ้านสำโรงพลัน คือหอระฆังเป็นต้นสำโรงมีงูเหลือมพันรอบต้นสำโรง ถึงหนองน้ำ หรือเรียกว่าหนองสำโรงพลัน และได้สร้างกรรชัรร์ 4 ต้น 4 ทิศ รอบหอระฆัง เพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงบรรพบุรุษ อนุชนรุ่นหลังได้รักษา สืบสานประเพณีรำตร๊ด มาจนถึงปัจจุบัน คำว่า กรรชัรร์เป็นอุปกรณ์หนึ่งที่ใช้ในการแสดงรำตร๊ด ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่น เมื่อปี พ.ศ. 2562 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นอนุสรณ์กรรชัรร์ ให้อนุชนน้อมระลึกถึง วัดบ้านสำโรงพลัน สืบต่อไป.