เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่ซุ้มประตูถนนวัฒนธรรม ไทย-เวียดนาม (สามแยกถนนธำรงค์ประสิทธิ์ตัดกับถนนนิตโย) อ.เมือง จ.นครพนม นางรณิดา เหลืองฐิติสกุล รอง ผวจ.นครพนม รักษาราชการแทน ผวจ.นครพนม เป็นประธานในพิธีเปิดซุ้มประตูถนนวัฒนธรรม ไทย-เวียดนาม โดยมีนายนิวัต เจียวิริยบุญญา นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองนครพนม เป็นผู้กล่าวรายงานฯ นายเหงียน แหม่ง ดง รองประธานคณะกรรมการว่าด้วยกิจการชาวเวียดนาม เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามประจำประเทศไทย พล.ต.ฉัฐชัย มีช่วงชั้น ผบ.มทบ.210 พล.ต.ต.ธวัชชัย ถุงเป้า ผบก.ภ.จว.นครพนม นายโชคดี มังคละคีรี นายวัฒนศักดิ์ เจียวิริยบุญญา รองนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองนครพนม พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองนครพนม ประธานชุมชนในเขตเทศบาลเมืองนครพนม ประชาชนชาวไทย-เวียดนาม เข้าร่วม

โดยความสัมพันธ์ระหว่างชาวจังหวัดนครพนม และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน ทั้งด้านการค้า การลงทุน การเมืองการปกครอง และการต่างประเทศ โดยจังหวัดนครพนมเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่คนเวียดนามได้อพยพเข้ามา โดยเฉพาะบริเวณบ้านนาจอก ตำบลหนองญาติ อำเภอเมืองนครพนม ที่ครั้งหนึ่งระหว่างปี พ.ศ. 2466-2474 ประธานโฮจิมินห์ ผู้นำชาวเวียดนามได้มาพำนักและใช้เป็นฐานที่มั่นในการวางแผน กอบกู้ชาติจนประสบความสำเร็จ และเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศเวียดนามให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของจังหวัดนครพนม และสนับสนุนให้ประชาชนในชุมชนมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าและของที่ระลึก รัฐบาลไทยและรัฐบาลเวียดนาม จึงได้มีโครงการหมู่บ้านมิตรภาพ ไทย-เวียดนาม ขึ้นในพื้นที่บ้านนาจอก และปี พ.ศ. 2503 หอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์ในจังหวัดนครพนม ได้รับการก่อสร้าง เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2503 และใช้เวลาก่อสร้าง 3 เดือน ด้วยเงินบริจาคของชมรมชาวเวียดนามที่อาศัยในประเทศไทยในตอนนั้น เพื่อรำลึกถึงบุญคุณของพระมหากษัตริย์ไทย รัฐบาลไทย และพี่น้องชาวไทย ที่ได้ช่วยเหลือชาวเวียดนามอพยพในช่วงนั้น ที่ฝรั่งเศสทิ้งระเบิดแม่น้ำโขง เป็นสีเลือดชาวเวียดนามนับร้อยคนเสียชีวิต ดังนั้น การก่อสร้างอนุสรณ์สถานรำลึกถึงวันที่อพยพมาเมืองไทย

โครงการก่อสร้างซุ้มประตู ไทย-เวียดนาม (บริเวณถนนธำรงค์ประสิทธิ์) ใช้งบประมาณเทศบาลเมืองนครพนม ตามเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567 ของเทศบาลเมืองนครพนม แผนงานสร้างความเข้มแข็งของชุมชน งานบริหารทั่วไปเกี่ยวกับสร้างความเข้มแข็งของชุมชน จำนวนเงินงบประมาณทั้งสิ้น 490,000 บาท (สี่แสนเก้าหมื่นบาทถ้วน) มีขนาดความกว้าง 11.80 เมตร ความสูงใต้คานซุ้มประตู 5.50 เมตร ความสูงถึงหลังคา 11.45 เมตร โดยมีพิธีวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 11 ธันวาคม 2566