เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2567 ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ฯ แจ้งวัฒนะ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ผู้ร้องในฐานะประชาชน ได้หอบเอกสารประกอบคำร้อง 65 หน้า และเอกสารประกอบ อีกจำนวน 443 แผ่น รวมคำร้องและเอกสารประกอบชุดละ 508 แผ่น จำนวน 10 ชุด รวมเอกสารทั้งสิ้น 5,080 แผ่น ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ อันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 

โดยนายธีรยุทธ แถลงก่อนเข้ายื่นคำร้อง ว่า ตนได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 ซึ่งครบกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อ อัยการสูงสุดในวันที่ 9 ต.ค. 2567 ปรากฏว่าอัยการสูงสุดไม่ได้ดำเนินการส่งคำร้องขอของผู้ร้องมายังศาลรัฐธรรมนูญตามที่ร้องขอ ผู้ร้องจึงใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสาม ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญตามคำร้องฉบับนี้ เพื่อขอศาลรัฐธรรมนูญโปรดวินิจฉัยสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้ง 2 เลิกการกระทำใช้สิทธิและเสรีภาพอันอาจจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 

นายธีรยุทธ กล่าวว่า ตนมีหลักฐาน ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และบรรทัดฐานคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ปรากฏตามคำร้อง 65 หน้า โดยมีพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องทั้งสองแบ่งได้เป็น 6 กรณี ดังนี้

กรณีที่ 1 นายทักษิณ  ได้รับพระราชทานลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี แต่กลับสั่งการพรรคเพื่อไทยใช้อำนาจผ่านกรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจเอื้อประโยชน์ให้อยู่ห้องพักชั้น 14 ไม่ต้องรับโทษในเรือนจำแม้แต่วันเดียว ฝ่าฝืนพระบรมราชโองการ ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์

กรณีที่ 2 นายทักษิณ ฝักใฝ่คบหาร่วมคิดกับสมเด็จฯฮุน เซน ผู้นำทางการเมืองของกัมพูชา มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และใช้พรรคเพื่อไทยเป็นเครื่องมือควบคุมสั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์กับสมเด็จฯฮุน เซน ให้ประเทศกัมพูชาละเมิดอธิปไตยทางทะเลของไทยในการการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (MOU 2544)

กรณีที่ 3 นายทักษิณ สั่งการพรรคเพื่อไทยร่วมมือกับพรรคประชาชน (พรรคก้าวไกลเดิม) เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อนายทักษิณ และพวก

กรณีที่ 4 นายทักษิณ ครอบงำและสั่งการพรรคเพื่อไทยในการเจรจากับแกนนำพรรคการเมืองอื่นที่ร่วมรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐนตรี เพื่อเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนนายเศรษฐาที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เมื่อเย็นวันที่ 14 ส.ค.67

กรณีที่ 5 นายทักษิณสั่งการพรรคเพื่อไทยขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล

กรณีที่ 6  นายทักษิณ สั่งการให้พรรคเพื่อไทยนำเรื่องที่นายทักษิณที่แสดงวิสัยทัศน์ไว้ไปเป็นนโยบายคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 12 ก.ย.67

นายธีรยุทธ กล่าวอีกว่า ตนขอให้ศาลรัฐธรรมนูญโปรดพิจารณาวินิจฉัยว่า ทั้ง 6 กรณี ว่า ผู้ถูกร้องทั้ง 2 ได้มีการกระทำ อันเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์สูญเสียสถานะที่จะต้องอยู่เหนือการเมืองหรือดำรงความเป็นกลางทางการเมือง ย่อมเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง และ ผู้ถูกร้องทั้งสองมีการกระทำ อันมีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายระบบพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมืองที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง การกระทำดังกล่าวทั้งสองประการ เป็นการกระทำที่อาจนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด

นายธีรยุทธ กล่าวต่อว่า เพื่อป้องกันความเสียหายร้ายแรงที่อาจจะเกิดแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นสถาบันหลักของประเทศและสถาบันพรรคการเมืองที่มีความสำคัญต่อระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นรัฐประศาสโนบายที่จำเป็นเพื่อดับไฟกองใหญ่ไว้แต่ต้นลมไม่ให้ไฟกองเล็กกระพรือโหมไหม้รุกลามขยายใหญ่จนเป็นมหันตภัยที่ไม่อาจต้านทานได้ในวาระต่อไป  จึงขอศาลรัฐธรรมนูญโปรดพิจารณาวินิจฉัยสั่งการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง ดังนี้ 1. ให้นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1 เลิกกระทำการใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือกระทำการอันเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ 2. ให้ผู้ถูกร้องที่ 1 เลิกกระทำการเป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการการดำเนินงานของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2

นายธีรยุทธ กล่าวต่อว่า 3. ให้ผู้ถูกร้องที่ 1 เลิกใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน สั่งการรัฐบาลให้ดำเนินการตามความต้องการของผู้ถูกร้องที่ 1 4. ให้ผู้ถูกร้องที่ 1 เลิกกระทำการใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้  5. ให้พรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้เป็นเครื่องมือกระทำการอันเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ 6. ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้เป็นเครื่องมือกระทำการเป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการ การดำเนินงานของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 7. ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินสั่งการรัฐบาลให้ดำเนินการตามความต้องการของผู้ถูกร้องที่ 1 8. ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกยินยอมให้ ผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้