เมื่อวันที่ 9 ต.ค. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข กล่าวกรณีเหตุดินสไลด์จังหวัดสุโขทัยว่า ตนได้รับรายงานจากสาธารณสุขจังหวัดสุโขทัยว่า ช่วงเวลา 15.00 น. ของวันนี้วันที่ 8 ต.ค. 2567 ได้เกิดเหตุดินสไลด์ริมฝั่งแม่น้ำยม ในเขตพื้นที่ หมู่ 4 ตำบลคลองกระจง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ซึ่งพบผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บสาหัส 1 ราย มีปัญหากระดูกต้นคอร้าว และบาดเจ็บอาการปานกลาง 5 ราย ยังไม่พบอาการบาดเจ็บตามร่างกาย แต่มีผลกระทบด้านจิตใจ โดยมีอาการหวาดผวาจากเหตุที่เกิดขึ้น ที่ญาติเสียชีวิต และหลานสูญหาย รวมถึงมีเด็กหญิงอายุ 10 ขวบ หาร่างไม่เจอสูญหาย โดยสาธารณสุขอำเภอสวรรคโลก ได้ร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่เกิดเหตุแล้ว เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บและติดค้างอยู่ในบ้าน ซึ่งได้นำส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลสวรรคโลกเรียบร้อยแล้ว

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT) จากโรงพยาบาลจิตเวชพิษณุโลก และศูนย์สุขภาพจิตที่ 2 ลงพื้นที่ดูแลสุขภาพจิตผู้ได้รับผลกระทบแล้ว ทั้งพื้นที่เกิดเหตุ และโรงเรียนของเด็กหญิง 10 ขวบที่สูญหายด้วย ขณะเดียวกัน ตนยังได้กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดสุโขทัย รวมถึง น.ส.ประภาพร ทองปากน้ำ สส.สุโขทัย เร่งลงพื้นที่สำรวจบ้านเรือนประชาชน ที่อาจเกิดเหตุลักษณะเดียวกัน เพื่อป้องกันการสูญเสีย และบาดเจ็บของพี่น้องประชาชน พร้อมสั่งให้ทีมแพทย์ พร้อมช่วยเหลือประชาชน ที่อาจประสบเหตุในทันที โดยเฉพาะในช่วงที่ยังประสบเหตุอุทกภัย ซึ่งต้องยอมรับว่า ยังมีความเสี่ยงที่ประชาชนจะได้รับบาดเจ็บอยู่ จึงขอให้สาธารณสุขจังหวัด ทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

ด้าน นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ทีม MCATT ลงพื้นที่ตรวจสอบและประเมินสถานการณ์ทางจิตของครอบครัวผู้สูญหายและเสียชีวิตจากเหตุการณ์ และประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุ ซึ่งการดูแลจิตใจในระยะแรกหลังเผชิญเหตุสำคัญมากเพราะผู้ประสบภัยจะเผชิญกับความตื่นตระหนก ความเครียด และความวิตกกังวลสูง การจัดการกับจิตใจในช่วงนี้จะช่วยลดผลกระทบทางอารมณ์และจิตใจในระยะยาวได้ ซึ่งสามารถทำได้โดย 1. จัดการกับความรู้สึกของตนเองยอมรับความรู้สึก โดยให้ตระหนักว่าความกลัวและความวิตกกังวลเป็นเรื่องธรรมดาในสถานการณ์วิกฤติ อย่าพยายามหลีกหนีจากความรู้สึก แต่ให้เผชิญหน้าและยอมรับว่ามันเกิดขึ้น ใช้เทคนิคการหายใจเข้าลึกๆ เพื่อช่วยลดความเครียดและทำให้จิตใจสงบลง

2. การสื่อสารและขอความช่วยเหลือ ทั้งการสนับสนุนจากคนใกล้ตัว พูดคุยกับครอบครัว เพื่อน หรือผู้ให้การสนับสนุน เพื่อระบายความรู้สึกและรับการสนับสนุนทางอารมณ์ 3. ติดตามข้อมูลข่าวสารสถานการณ์จากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ เพื่อให้มั่นใจว่าได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และในปริมาณที่เหมาะสม 4. ไม่ควรคาดหวังความสมบูรณ์แบบจากตนเอง ไม่จำเป็นต้องทำให้ตนเองรู้สึกดีทันที แต่ควรค่อยๆ ปรับตัวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และ 5.หากความเครียดหรือความวิตกกังวลรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ควรขอคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญในการดูแลจิตใจหรือปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง.