เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ที่มีนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ   สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ เป็นประธาน มีวาระการพิจารณาติดตามผู้ต้องหาคดีตากใบ หลังจากที่ศาลจังหวัดนราธิวาส ฟ้องและออกหมายจับจำเลย 7 คน และอัยการสูงสุดเห็นแย้งกับพนักงานสอบสวน ที่มีคำสั่งส่งฟ้องผู้ต้องหา 8 คน รวมทั้งหมด 14 คน ซ้ำกับจำเลยเดิม 1 คน  

โดยในที่ประชุมได้มีตัวแทนจากคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ เข้าร่วมรับฟังการพิจารณาด้วย นอกจากนี้ยังมีการเชิญตัวแทนจากโจทก์และตัวแทนผู้ร้องในคดีดังกล่าว คือ นางพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม มาในฐานะตัวแทนโจทก์ในคดี และได้มีการเชิญ กองทัพบก ผู้อำนวยการ รักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า สภาความมั่นคงแห่งชาติ ตำรวจภูธรภาค 9 และอัยการภาค 9 โดยแต่ละหน่วยงานได้ส่งตัวแทนมาชี้แจง

นายวิทยา แก้วภราดัย กรรมาธิการ ได้สอบถามว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประสานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตม. เกี่ยวกับจำเลย 14 รายแล้วหรือไม่ พ.ต.อ.รังษี มั่นจิตร ตัวแทนจากตำรวจภูธรภาค 9 แจ้งว่าได้มีการส่งหมายจับไปยัง ตม. แล้ว เพื่อตรวจสอบว่าบุคคลตามหมายจับมีการเดินทางออกนอกประเทศหรือไม่ หากตรวจพบก็จะแจ้งมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อประสานไปยังตำรวจอินเตอร์โพล

นายกมลศักดิ์ ได้ถามต่อว่า ตม. แจ้งว่า จำเลยทั้ง 14 ราย ยังไม่ได้เดินทางออกนอกประเทศใช่หรือไม่ พ.ต.อ.รังษี กล่าวว่า เนื่องจากการประชุมวันนี้ไม่ใช่การประชุมลับ นายกมลศักดิ์ ยังคงยืนยันในคำถามเดิมโดยมองว่า เป็นข้อมูลที่น่าจะเปิดเผยได้ ไม่ได้ลงในรายละเอียดว่าเดินทางออกเมื่อไรไปที่ใด เพียงอยากรู้ว่ากี่รายเท่านั้นและไม่น่ากระทบกับรูปคดี พ.ต.อ.รังษี จึงชี้แจงเพียงว่ามี 2 ราย แต่ขอสงวนรายชื่อว่าเป็นบุคคลใด

ด้าน น.ส.นิตยา มีศรี สส.พรรคประชาชน ในฐานะกรรมาธิการ สอบถามว่าระหว่างวันที่ 12 ก.ย. ที่ศาลอนุมัติหมายจับ ไปจนถึงวันที่ 20 ก.ย. มีการประสานกับ ตม. ถึงการเดินทางออกนอกประเทศหรือไม่ พ.ต.อ.รังษี ชี้แจงว่าทันทีที่ทราบหมายจับในวันที่ 12 ก.ย. ได้ประสานไปยัง ตม. ทันที แต่ ตม. แจ้งกลับมาว่ามีคนเดินทางออกนอกประเทศไปก่อนที่จะมีการออกหมายจับ 2 ราย

ทั้งนี้ได้มีการสอบถามต่อถึงกระบวนการเช็กพิกัดของสัญญาณโทรศัพท์และการติดตามตัว นอกเหนือจากการบุกค้นบ้านตามทะเบียนบ้าน พ.ต.อ.รังษี ชี้แจงว่าเราไม่ได้เลือกปฏิบัติ  ยืนยันว่าเรามีการตรวจสอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ถิ่นที่อยู่ หรือบุคคลใกล้ชิด และไม่ได้มุ่งเรื่องโทรศัพท์เพียงอย่างเดียว แต่ใช้การติดตามข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกอย่าง เชื่อว่าคนร้ายต้องทิ้งร่องรอยไว้อยู่แล้ว เหมือนกับกรณีของแป้งนาโหนด ที่ทิ้งร่องรอยเอาไว้จึงตามได้

ด้านนายรอมฎอน ปันจอร์ สส.พรรคประชาชน ในฐานะตัวแทนจากกรรมาธิการความมั่นคงฯ กล่าวว่า สิ่งที่ชี้แจงพยายามจะบอกว่าได้ปฏิบัติตามหน้าที่ เพื่อหลีกเลี่ยงการไม่ปฏิบัติหน้าที่ แต่สิ่งที่สังคมอยากรู้คือผู้ต้องหาทั้ง 14 รายอยู่ที่ไหน จากข้อมูลที่ตนทราบ บุคคลที่หนีออกไปนอกประเทศ คนหนึ่งอยู่ที่ลอนดอนประเทศอังกฤษ อีกคนอยู่ที่โตเกียวประเทศญี่ปุ่นใช่หรือไม่ ทางตำรวจได้พยายามติดตามสื่อสารเพื่อขอตัวแล้วหรือไม่

พ.ต.อ.รังษี ชี้แจงว่า ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าผู้ต้องหาทั้ง 14 หมายจับอยู่ที่ไหน ส่วนที่ถามว่ายืนยันหรือไม่ว่ามีผู้ต้องหาหลบหนีไปที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ และโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นนั้น ถือว่าท่านให้เบาะแส ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ส่งเรื่องไปยังอินเตอร์โพลเพื่อขอหมายแดงเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 7 ต.ค. พร้อมชี้แจงกระบวนการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่า หลังวันที่ 12 ก.ย. ที่ศาลนราธิวาส ออกหมายจับโดยหมายศาล แต่วันที่ 20 ก.ย. พนักงานสอบสวนไปขอหมายจับจากศาลปัตตานี และวันที่ 21 ก.ย. ออกหมายจับ ได้มีการเร่งรัดและตามโดยมีเดดไลน์ 25 ต.ค. และนำหมายศาลลงไปในระบบครามส์ของตำรวจ

ขณะที่นายคุณากร มั่นนทีรัย สส.พรรคประชาชน ในฐานะกรรมาธิการ กล่าวว่า ผู้ต้องหาหลายคน รับราชการทหาร ตำรวจ และมีทหาร 3 คน ที่ยังไม่เกษียณราชการ ซึ่งคนเหล่านี้มีนายทหารติดตาม ได้มีการตรวจค้นบ้านพัก หรือติดตามข้อมูลกับบุคคลเหล่านี้หรือไม่     พ.ต.อ.รังษี ยืนยันว่า ได้มีการติดตามตรวจสอบทุกขั้นตอน เส้นทางการเงิน รวมถึงการติดตามสอบสวนและติดตามหาข่าว

ด้าน น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว สส.พรรคประชาชน ในฐานะกรรมาธิการ ได้สอบถามว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการแจ้ง Watch List กับผู้ต้องหาหลังจากที่ศาลประทับรับฟ้องคดีนี้เลยหรือไม่ เพื่อติดตามผู้ต้องหาทั้ง 14 ราย พ.ต.อ.รังษี ชี้แจงว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้ง ตม. ตามระเบียบ แต่ ตม. จะดำเนินการแล้วหรือไม่ เราไม่ทราบแต่ระเบียบมีอยู่ ถ้าเจ้าหน้าที่ผิดพลาดก็เป็นเรื่องของตัวบุคคล ขอให้เข้าใจความหมายนี้ด้วย

จากนั้นนางพรเพ็ญ ในฐานะตัวแทนโจทก์ ได้สอบถามอัยการที่เป็นทนายความให้กับจำเลยที่ 8-9 ตัวแทนอัยการได้ชี้แจงว่ากรณีเจ้าหน้าที่รับเจ้าหน้าที่รัฐถูกกล่าวหา โดยราษฎรฟ้อง อัยการเรามีสิทธิที่จะเข้าไปรับแก้ต่าง โดยไม่ต้องจ้างทนาย ตาม พ.ร.บ.อัยการและพนักงานอัยการมาตรา 14 (4) โดยเหตุผลที่เป็นทนาย เพราะจำเลยทั้ง 2 ราย สังกัดกระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง แต่ผู้ต้องหารายอื่น พนักงานอัยการไม่รับแก้ต่าง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหนึ่งของการประชุม นายวิทยา ได้กล่าวว่า หลังจากดูชื่อ มาถามตรงนี้ก็ไม่ได้อะไรหรอก เพราะคนที่โดนออกหมายจับเป็นผู้บังคับบัญชาของทุกคนในนี้ ยกเว้นอัยการ ที่ไม่มีผู้บังคับบัญชา แต่ที่เหลือเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาทั้งหมด เรื่องนี้หากจะเดินต่อได้ ให้ถามรัฐบาล ถามตรงนี้ไม่มีคำตอบ ต่อให้ตอบ ก็ตอบไม่ถูก บางทีบางคนในนี้ยังไม่รับราชการดี เพราะในผู้ต้องหายศต่ำที่สุดคือผู้ว่าราชการจังหวัด ตอนนี้ก็อายุจะ 80 แล้ว และป่วยหนัก

โดยหลังจากพูดจบนายวิทยา ได้ลุกออกจากห้องประชุมทันที ขณะที่ระหว่างการประชุม ห้องประชุมสภาได้มีการเรียกลงมติ ซึ่งที่ประชุม กมธ. ขอพักการประชุม แต่ สส. ของพรรคประชาชน และนายกัณวีร์ สืบแสง สส.พรรคเป็นธรรม ระบุว่าการลงมติใช้เวลานาน จึงขอให้ดำเนินการประชุมต่อ ขณะที่ สส.พรรคอื่นในกรรมาธิการ ได้ลุกออกจากห้องประชุมไปลงมติ โดยในที่ประชุมเหลือเพียง  สส.พรรคประชาชน และ สส.พรรคเป็นธรรม ที่ดำเนินการพิจารณาต่อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมญาติผู้เสียหายได้ติดตามผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยกล่าวว่าอยากให้เจ้าหน้าที่เร่งจับกุมผู้ต้องหาให้ได้ทั้งหมด และอยากเห็นและรอความยุติธรรมจากคดีดังกล่าว ขณะที่ทางตำรวจก็ได้กล่าวย้ำว่า เร่งรัดการจับกุมอยู่.