เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 8 ต.ค. ที่ห้อง Auditorium อาคารวัฒนวิภาส การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานใหญ่ เขตคลองเตย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (MEA) ร่วมพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง ระหว่าง การไฟฟ้านครหลวง กับ กรุงเทพมหานคร

โดยมี นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา นายฐิติวุฒิ เงินคล้าย รองผู้ว่าการปฏิบัติการระบบส่ง คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารการไฟฟ้านครหลวง ร่วมเป็นเกียรติในพิธี

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวงในครั้งนี้ จะเน้นการประสานงานเพื่อบริหารจัดการโครงการร่วมกัน และร่วมกันตรวจสอบเชิงป้องกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการให้น้อยที่สุด

ซึ่งการร่วมมือกันในครั้งนี้ จะส่งผลให้เป้าหมายของทั้งสองหน่วยงาน สามารถบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้คือ การเป็นเมืองมหานครแห่งอาเซียน เป็นเมืองที่มีความพร้อมรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม และมีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน อันจะส่งเสริมให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน

“โครงการนำสายฟ้าลงใต้ดิน ล้วนส่งผลกระทบกับพื้นที่สาธารณะ เนื่องจากการดำเนินการต้องมีการเปิดฝาท่อพื้นผิวจราจร ต้องมีการปิดการจราจรบางส่วน รวมถึงทางเท้าก็ได้รับผลกระทบเนื่องจากต้องมีการขุดเพื่อวางสายไฟฟ้า อาทิ ถนนพระรามที่ 3 ถนนพระรามที่ 4 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่

ดังนั้น การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้จึงส่งผลดีในภาพรวม เพื่อวางแผนการทำงานในระยะยาว และกำหนดมาตรฐานร่วมกันในทุกโครงการ รวมถึงการกำกับดูแลผู้รับเหมาการก่อสร้าง โดยการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบออนไลน์ ซึ่งจะทำให้รับทราบปัญหาจากการก่อสร้างในแต่ละจุดได้ ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้รวดเร็วและส่งผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าว

ผู้ว่าการ MEA กล่าวว่า ในฐานะที่ MEA และกรุงเทพมหานคร เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทย มีภารกิจยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจเมืองมหานคร ที่ผ่านมา MEA ได้ดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้า สร้างความปลอดภัย และปรับทัศนียภาพตอบสนองความต้องการด้านพลังงานให้กับประชาชน

การยกระดับความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยผลักดันให้เกิดความสำเร็จตามเป้าหมายการก่อสร้างโครงการสายไฟฟ้าใต้ดินระยะทาง 313.5 กม. ภายในปี 2572 และยังช่วยยกระดับการบูรณาการในมิติต่าง ๆ เช่น การประสานแผนปรับปรุงทางเท้า และระบบไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น การปรับปรุงขั้นตอนแก้ไขข้อร้องเรียนจากระบบ Traffy Fondue พร้อมตั้งคณะทำงานเพื่อติดตาม ควบคุม พิจารณา และเร่งรัดการอนุญาตก่อสร้าง ตลอดจนการตรวจสอบความเรียบร้อยของโครงการสายไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อยกระดับการตรวจสอบเชิงป้องกันในระหว่างการก่อสร้างของโครงการฯ

สำหรับความคืบหน้าการดำเนินโครงการสายไฟฟ้าใต้ดินในปัจจุบัน สามารถดำเนินการแล้วเสร็จเป็นระยะทาง 73.4 กม. อยู่ระหว่างดำเนินการ 240.1 กม. โดยแบ่งเป็น 3 สถานะ คือ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 176.7 กม. อยู่ระหว่างจัดหาผู้รับจ้าง 41.1 กม. และอยู่ระหว่างออกแบบ 22.3 กม.