สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ว่าองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (ดับเบิลยูเอ็มโอ) รายงานเมื่อปีที่แล้ว ว่าแม่น้ำต่าง ๆ ทั่วโลกแห้งแล้งที่สุดในรอบกว่า 30 ปี, ธารน้ำแข็งละลายมากที่สุดในรอบครึ่งศตวรรษ และอุทกภัยเกิดขึ้นจำนวนมาก

น.ส.เซเลสเต เซาโล เลขาธิการดับเบิลยูเอ็มโอ เปิดเผยว่า องค์กรได้รับสัญญาณเตือนถึงรุนแรงจากฝนที่ตกหนักขึ้น, น้ำท่วม และภัยแล้ง ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างหนักต่อชีวิต, ระบบนิเวศ และเศรษฐกิจ

ขณะที่การที่ชั้นบรรยากาศของโลกร้อนขึ้นนั้น ส่งผลให้วัฏจักรของน้ำแปรปรวน และคาดเดาไม่ได้มากขึ้น และโลกกำลังเผชิญกับปัญหาจากน้ำที่มากเกินไป หรือไม่เพียงพอ

ปี 2566 กลายเป็นปีซึ่งร้อนที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ เนื่องจากอุณหภูมิที่สูง, สภาพอากาศแห้งแล้ง และน้ำท่วมหลายแห่งทั่วโลก ซึ่งได้รับอิทธิพลจากสภาพอากาศตามธรรมชาติ, ปรากฏการณ์ลานีญาและเอลนีโญ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ตามข้อมูลของยูเอ็น ประชากร 3,600 ล้านคนทั่วโลก มีน้ำจืดใช้ไม่เพียงพออย่างน้อยเดือนละครั้งต่อปี และจำนวนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 ล้านคน ในปี 2593

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ลุ่มน้ำแม่น้ำมากกว่าร้อยละ 50 แห้งแล้งกว่าปกติ ขณะที่ธารน้ำแข็งสูญเสียปริมาณน้ำไปมากกว่า 600 กิกะตัน ซึ่งเป็นปริมาณที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 50 ปี

“น้ำแข็งและธารน้ำแข็งที่ละลาย คุกคามความมั่นคงด้านน้ำในระยะยาว ของผู้คนหลายล้านคน แต่โลกกลับไม่ดำเนินการเร่งด่วนดังที่จำเป็น” เซาโลกล่าว

นอกเหนือจากการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยูเอ็นเรียกร้องให้มีการตรวจสอบทรัพยากรน้ำจืดของโลกให้ดีขึ้น เพื่อให้ระบบเตือนภัยล่วงหน้าช่วยลดความเสียหาย ซึ่งอาจเกิดกับประชาชนและสัตว์ป่า

“เราไม่สามารถจัดการในสิ่งที่ไม่เคยคาดการณ์มาก่อนได้” เซาโลย้ำ.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES