เบื้องหลังความสะดวกสบายเหล่านั้น คือระบบโลจิสติกส์ อย่าง ‘คลังสินค้า’ และ ‘ลานพักสินค้า’ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นหัวใจของระบบซัพพลายเชน ที่เป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงกระบวนการผลิตไปสู่ผู้บริโภค กล่าวคือ สถานที่ดังกล่าว คือศูนย์กลางในการจัดเก็บและกระจายสินค้า ตั้งแต่สินค้าอุปโภคบริโภคประจำวัน ไปจนถึงสินค้าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

คลังสินค้าและลานพักสินค้าที่ว่านี้ มีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของเรามากกว่าที่คิด ลองนึกภาพตามง่ายๆ ว่า เวลาที่เราสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ สินค้าเหล่านั้นจะถูกเก็บไว้ในคลังสินค้าขนาดใหญ่ ก่อนที่จะถูกส่งต่อไปยังบริษัทขนส่ง และสุดท้ายก็มาถึงบ้านของเรา หรือแม้แต่สินค้าที่เราซื้อตามห้างสรรพสินค้า ก็ล้วนแล้วแต่ผ่านกระบวนการจัดเก็บและกระจายสินค้าในคลังสินค้ามาก่อนทั้งสิ้น

ทว่าในขณะเดียวกัน กระบวนการทำงานของคลังสินค้าก็เป็นภาคส่วนที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงาน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการผลิตขยะ ประกอบกับการที่ปัจจุบัน เรากำลังอยู่ในยุคที่ความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด การดำเนินธุรกิจของทุกภาคส่วนจำเป็นจะต้องปรับตัวให้สอดรับกับแนวคิดความยั่งยืน อุตสาหกรรมโลจิสติกส์’ ก็เช่นกันการเปลี่ยนแปลงสู่การดำเนินงานที่ยั่งยืน ไม่เพียงแต่เป็นการตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเพิ่มขีดความสามารถและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในระยะยาวอีกด้วย

การประกอบธุรกิจคลังสินค้าด้วยความยั่งยืน จะนำมาซึ่งผลประโยชน์อันหลากหลาย ตั้งแต่สามารถลดต้นทุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการลดปริมาณขยะ ซึ่งจุดนี้ก็จะส่งผลให้สามารถลดต้นทุนในการดำเนินงานได้ ทั้งยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพด้านการดำเนินงานได้ เนื่องจากการนำเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนเข้ามาใช้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและลดความผิดพลาดลงได้ ตลอดจนสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในปัจจุบันที่หันมาสนับสนุนธุรกิจที่ใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม

ดังที่ ‘บริษัทเอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน)’ หรือ ‘SCGJWD’ ผู้นำในการให้บริการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนของภูมิภาคอาเซียน ได้ดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ‘โลจิสติกส์สีเขียว’ (Green Logistics) โดยวางกรอบการดำเนินงานตามแผนพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะสั้นและระยะยาว ครอบคลุมตั้งแต่ปี 2566-2570 ซึ่งสอดคล้องกับการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนานี่ยั่งยืนขององค์กรสหประชาชาติสหประชาชาติ (SDGs) ทั้ง 17 ข้อ และให้ความสำคัญในประเด็นด้านความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงยึดหลักสำคัญของดัชนีชี้วัด Global Reporting Initiatives (GRI) 2021 ที่ถือเป็นปัจจัยในการสนับสนุนเป้าหมายทางธุรกิจของบริษัทให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

‘ชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมของ SCGJWD เปิดเผยว่า เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี ให้ความสำคัญกับการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรและการขยายฐานธุรกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะการควบรวมกับ เอสซีจี โลจิสติกส์ ซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ และลดการสูญในส่วนที่ไม่จำเป็น อีกทั้งความยั่งยืนยังนับว่าเป็นบริบทสำคัญในการลดผลกระทบทางลบจากปัจจัยภายนอก เช่น ราคาน้ำมันที่ผันผวน และสงครามที่กระทบกับโลจิสติกส์ เหล่านี้จะทำให้ เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี สามารถรองรับการเติบโตของตลาดในอนาคตได้เป็นอย่างดี

“เรามุ่งมั่นขยายธุรกิจควบคู่กับการดำเนินงานอย่างยั่งยืน ตามหลักการจัดการที่ครอบคลุมมิติ ESG ในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชน บรรษัทภิบาล และเศรษฐกิจ” ชวนินทร์ กล่าวต่อ

ด้าน ‘บรรณ เกษมทรัพย์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี กล่าวเสริมว่า บริษัทฯ มุ่งดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ‘โลจิสติกส์สีเขียว’ โดยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาที่คลังสินค้าห้องเย็นทุกแห่ง เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทดแทนการซื้อไฟฟ้า เปลี่ยนมาใช้รถโฟล์คลิฟท์ไฟฟ้าแทนรถน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงการใช้เทคโนโลยีจัดเก็บและจ่ายสินค้าอัตโนมัติ (Automated Storage Retrieval System: ASRS) ที่ช่วยลดการใช้ไฟฟ้า ทำให้เพิ่มขีดความสามารถในการจัดเก็บ โดยเทคโนโลยีหลักที่กล่าวมาในข้างต้นนี้ ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถบริหารต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไปพร้อมกัน

นับตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมา บริษัทสามารถลดค่าไฟฟ้าได้กว่า 200 ล้านบาท และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 33,000 ตันคาร์บอนไดออกไรด์เทียบเท่า และเทคโนโลยี TMS (Transport Management System) ที่ช่วยเรื่องวางแผนการเส้นทางการขนส่ง ทำให้สามารถประหยัดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้เพิ่มมากขึ้น เพื่อบรรุเป้าหมายของบริษัทฯ ในการมุ่งสู่ Net Zero ภายในปี 2050

ทั้งนี้ ล่าสุด เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี ได้ประกาศเดินหน้าขยายโซลูชัน คลังสินค้าห้องเย็นทั่วอาเซียน รับกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และความต้องการที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมอาหาร ยา และเวชภัณฑ์ โดยคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมดังกล่าวจะเติบโตแข็งแกร่งในช่วงปี 2024-2029 จึงได้วาง 4 กลยุทธ์หลัก เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ มุ่งเน้นการลงทุนที่มีศักยภาพสูง การร่วมมือกับพันธมิตร และนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ โดยใช้ระบบจัดเก็บและจ่ายสินค้าอัตโนมัติ (ASRS) เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการจัดเก็บสินค้าและลดการใช้พลังงาน รวมถึงใช้ในการคัดแยกสายพันธุ์ปลาทูน่าที่มีความแม่นยำมากกว่า 95%

สำหรับแผนการดำเนิน ภายใต้ 4 กลยุทธ์หลัก ที่ขับเคลื่อนการขยายธุรกิจโลจิสติกส์สำหรับสินค้าควบคุมอุณหภูมิในประเทศไทยและอาเซียน ได้แก่ 1. ขยายฮับคลังสินค้าห้องเย็นในจังหวัดยุทธศาสตร์: บริษัทฯ มีแผนขยายคลังสินค้าห้องเย็นในจังหวัดสำคัญทั่วประเทศ เช่น ปทุมธานี สระบุรี เชียงใหม่ ขอนแก่น และภูเก็ต เพิ่มพื้นที่ให้บริการถึง 24% เป็น 300,000 พาเลตภายในปี 2029, 2. ขยายธุรกิจในอาเซียน: บริษัทฯ มีแผนสร้างโอกาสใหม่ในการขยายธุรกิจในอาเซียน โดยมีการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ อาทิ การร่วมมือกับ SWIFT ในมาเลเซีย รวมถึงแผนขยายธุรกิจในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ผ่านการร่วมทุนและการควบรวมกิจการ (M&A), 3. ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ขยายธุรกิจและโซลูชันลูกค้า: เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี ได้ร่วมมือกับกลุ่มไทยยูเนี่ยน เพื่อตั้งบริษัทร่วมทุนในการลงทุนคลังสินค้าห้องเย็นระบบอัตโนมัติ (ASRS) ในจังหวัดสมุทรสาคร รวมถึงการร่วมกับ OR เพื่อให้บริการจัดส่งสินค้าเบเกอรี่แก่ร้าน Amazon Café กว่า 500 สาขาทั่วประเทศ และ 4. ขยายบริการ End-to-End Supply Chain Solution สำหรับธุรกิจเฮลท์แคร์และยา: เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี ได้นำความเชี่ยวชาญในการบริการคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิ และการขนส่งที่ผ่านมาตรฐานสากลมาใช้ เพื่อให้บริการแบบครบวงจรแก่ลูกค้าในกลุ่มยาและวัคซีน