เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่รัฐสภา นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีวุฒิสภาส่งร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ กลับให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแล้วหรือไม่ ว่า ตนเข้าใจว่าส่งมาแล้ว ซึ่งคงจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ยืนยันว่าท้ายที่สุดแล้ว สส. จะเห็นอย่างไร ก่อนจะนำไปสู่การตั้ง กมธ. ร่วมกันระหว่าง สส. กับ สว. ซึ่งข้อบังคับระบุว่าต้องตั้งกมธ.ฝ่ายละเท่ากัน โดยที่ผ่านมาก็มีการตั้ง กมธ.ร่วมกันฝ่ายละ 10 คน และในส่วนของ สส. ก็ต้องไปตามอัตราส่วนของสมาชิก ที่ประกอบด้วยรัฐบาลและฝ่ายค้าน ทั้งนี้ เข้าใจว่านายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ได้กำหนดแล้วว่าพรรคนั้นมีกี่คน พรรคนี้มีกี่คน ฝ่ายค้านกี่คน และต้องส่งให้วุฒิสภา ซึ่งทางวุฒิสภาก็ต้องส่งมา 10 คนเช่นกัน เพื่อมาประชุมร่วมกันว่าท้ายที่สุดแล้วจะเป็นอย่างไร

เมื่อถามว่า ผลที่ไปศึกษามาว่าทำประชามติสองครั้ง ได้ข้อสรุปแล้วหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า อยู่ระหว่างหารือ เป็นเพียงความเห็นว่าเมื่อมีปัญหาเช่นนี้แล้ว ท้ายที่สุดเราจะแก้ปัญหาอย่างไร บางความเห็นก็บอกว่าให้แก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น จึงเกิดการเสนอว่าให้ทำประชามติสองครั้ง แต่ตรงนี้ยังไม่ได้ข้อยุติระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล แต่เป็นความเห็นของฝ่ายที่เขาสนใจที่จะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

เมื่อถามว่า ตามโรดแม็พของรัฐบาลที่อยากทำประชามติช่วงแรกพร้อมกับการเลือกนายก อบจ. ในเดือน ก.พ. นั้น หากดูเกมการแก้ประชามติแล้ว มองว่าจะทันใช้หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า หากเป็นเรื่องที่ต้องใช้ตามข้อบังคับตามรัฐธรรมนูญ 180 วันนั้น หากตกลงกันไม่ได้ซึ่งก็ต้องรอไว้ 180 วัน แบบนี้ไม่ทันแน่นอน ฉะนั้นหากจะให้ทันเหมือนที่นายนิกร จำนง ที่ปรึกษา กมธ. พิจารณา พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ให้สัมภาษณ์นั้น ก็อาจจะมีแนวทางอื่น ที่ กมธ.ร่วมต้องไปพิจารณา ซึ่งหาก กมธ.ร่วมเห็นพ้อง ก็จะไปสู่การพิจารณาร่างกฎหมายได้ และไม่จำเป็นต้องใช้เวลาถึง 180 วัน อาจจะใช้เวลาแค่บวกลบ 1 เดือนนิดหน่อย ซึ่งจะสามารถทำให้เสร็จได้ ก็แล้วแต่ว่า กมธ.ร่วมจะพิจารณาอย่างไร หากเป็นเช่นนี้ก็จะทันใช้ในช่วง ม.ค.-ก.พ. 68.