นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อของไทยปี 67 ใหม่ จากเดิมที่ 0-1.0% เพิ่มเป็น 0.2-0.8% แต่ยังมีค่ากลางเท่าเดิมที่ 0.5% เพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจในปัจจุบัน เนื่องจากคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อเดือน ต.ค. 67 จะสูงขึ้นมาอยู่ที่ 1.25% และไตรมาส 4 ปีนี้จะขยายตัวได้ถึง 1.49%  เพราะฝนตกหนักและน้ำท่วมหลายพื้นที่ ทำให้พื้นที่เกษตรได้รับความเสียหาย ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผักสดสูงขึ้น รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำความสะอาดอาจสูงขึ้นด้วย ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศที่ลิตรละ 33 บาท ก็สูงกว่าปีก่อน รวมถึงสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าโดยสารเครื่องบิน

“แม้จะปรับคาดการณ์เงินเฟ้อกรอบล่างเพิ่มขึ้น จาก 0.0% เป็น 0.2% แต่กรอบบนก็ปรับลงจาก 1.0% เป็น 0.8% เพราะมีปัจจัยที่คาดจะทำให้เงินเฟ้อลดลงได้ คือ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกไตรมาส 4 มีแนวโน้มต่ำกว่าปีก่อน ทำให้ราคาแก๊สโซฮอล์ในประเทศลดลง เงินบาทแข็งค่าทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าถูกลง โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง ที่มีสัดส่วนในตะกร้าเงินเฟ้อสูง ตลอดจนคาดว่าห้างค้าส่ง ค้าปลีกรายใหญ่ จะจัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้าต่อเนื่อง หลังภาครัฐได้จ่ายเงินสด 10,000 บาทให้กลุ่มเปราะบางไปแล้ว”

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือน ก.ย. 67 อยู่ที่ 108.68 เพิ่มขึ้น 0.61% เมื่อเทียบกับดัชนีเดือน ก.ย. 66 ที่ 108.02  หลังราคาน้ำมันดีเซลสูงกว่าเดือน ก.ย. 66 รวมถึงผักสดบางชนิดสูงขึ้นเพราะพื้นที่เพาะปลูกเสียหายจากน้ำท่วม ขณะที่เมื่อเทียบกับเดือนก่อน คือ ส.ค. 67 พบว่าลดลง 0.10% จากการลดลงของราคาแก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซินเป็นสำคัญ ขณะที่เงินเฟ้อเฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปีนี้ เพิ่มขึ้น 0.20% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน เดือน ก.ย. 67 อยู่ที่ 105.18 เพิ่มขึ้น 0.11% เทียบเดือน ส.ค. 67  และเฉลี่ย 9 เดือนสูงขึ้น 0.48%

สำหรับรายละเอียดเงินเฟ้อเดือน ก.ย. 67 ที่สูงขึ้น 0.61% มาจากการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 2.25% โดยสินค้าสำคัญที่สูงขึ้น แยกเป็นกลุ่มอาหารสด  ผักสด เช่น ต้นหอม ผักกาดขาว ผักคะน้า พริกสด ผักชี มะเขือ กะหล่ำปลี ผลไม้สด เช่น เงาะ กล้วยน้ำว้า มะม่วง แตงโม ทุเรียน ฝรั่ง กล้วยหอม ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว นมสด และไข่ไก่ กลุ่มอาหารสำเร็จรูป ได้แก่ อาหารกลางวัน ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง กับข้าวสำเร็จรูป กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เช่น กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำหวาน และกลุ่มเครื่องประกอบอาหาร เช่น น้ำตาลทราย มะพร้าว  โดยสินค้าที่ราคาลดลง อาทิ ส้มเขียวหวาน ปลาทู น้ำมันพืช หัวหอมแดง กระเทียม และไก่ย่าง เป็นต้น

ส่วนหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.55% จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง ได้แก่ แก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซิน กลุ่มเสื้อผ้า เช่น เสื้อยืดบุรุษและสตรี เสื้อเชิ้ตบุรุษและสตรี กางเกงขายาวบุรุษ และกลุ่มค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล อาทิ แชมพู สบู่ถูตัว ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว ลิปสติก แป้งผัดหน้า น้ำยาบ้วนปาก ส่วนสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น อาทิ น้ำมันดีเซล ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน ค่ารถรับส่งนักเรียน ค่าโดยสารเครื่องบิน และค่าแต่งผมบุรุษและสตรี เป็นต้น