เมื่อวันที่ 7 ต.ค. นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) เผยข้อเสนอสืบเนื่องจากอุบัติเหตุรถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้ว่า ครั้งนี้จำเป็นต้องลงลึกการแก้ไขเชิงระบบ หรือรากภูเขาน้ำแข็ง เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจริงจัง โดยมีองค์ประกอบหลัก 3 ส่วนต้องขยับ ประกอบด้วย การจัดการระบบและสภาพรถ, ระบบการทัศนศึกษา และนโยบายกำกับติดตาม

ทั้งนี้ มองส่วนแรกกรมการขนส่งฯ ต้องเป็นเจ้าภาพหลักเรื่องการขอใบอนุญาต ซึ่งที่ผ่านมา โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย ทำให้ประสบปัญหาต้องลดต้นทุนให้อยู่รอด ยกตัวอย่าง การใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง เนื่องจากราคาถูกกว่าน้ำมัน ขณะเดียวกันจำนวนปั๊มก๊าซ NGV ที่มีจำนวนน้อย (ทั้งประเทศเหลือ 305 แห่ง) ทำให้ต้องติดตั้งหลายลูก ประหยัดเวลาแวะเติม, การดัดแปลงรถมาโดยใช้โครงเก่า

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดมีส่วนเกี่ยวพันถึงระบบความปลอดภัย ประกอบกับรถมีจำนวนมาก ระบบตรวจสภาพจึงไม่มีประสิทธิภาพหรือเข้มงวดได้เพียงพอ

อีกด้านการจัดระบบทัศนศึกษา ซึ่งปัจจุบันยังต้องประหยัด เนื่องจากข้อจำกัดค่าใช้จ่ายรายหัว นำไปสู่การว่าจ้างรถรถราคาถูก จึงเสนอให้ทบทวนระบบโดยแบ่งประเภททัศนศึกษาเด็กโตและเด็กเล็ก การให้ค่าใช้จ่ายรายหัวที่เหมาะสม มีระบบประเมินความปลอดภัยการเดินทาง ในส่วนนี้ต้องมีกลไกจัดการทั้งระดับโรงเรียน และเขตพื้นที่การศึกษา ในการตรวจสอบและประเมินความปลอดภัยเส้นทาง รถและโปรแกรมทัศนศึกษา

ผู้จัดการ ศวปถ. กล่าวต่อว่า ในส่วนนโยบายและการกำกับติดตาม เป็นหน้าที่รัฐบาล และหน่วยงานเกี่ยวข้อง จำเป็นต้องลงให้ลึกถึงรากปัญหาและดำเนินการให้เป็นระบบ พร้อมเสนอให้มีสถาบันหรือหน่วยงานกลางที่เชี่ยวชาญ และควรเป็นอิสระเพื่อให้ข้อเสนอเชิงระบบในการป้องกัน ไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ ทั้งนี้ ยกตัวอย่างกรณีการทำหน้าที่ของหน่วยงานเชี่ยวชาญและเป็นอิสระอย่าง MIORS (Malaysian institute of road safety research) เมื่อครั้งอุบัติเหตุใหญ่จากรถบัสในประเทศมาเลเซีย ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 28 ราย มีการลงสอบสวนเชิงลึกจนนำไปสู่ข้อเสนอเชิงระบบที่มีทั้ง มาตรฐานความปลอดภัยรถ 2 ชั้น ที่ต้องปรับปรุง มาตรฐานเส้นทางที่ห้ามรถ 2 ชั้นวิ่ง และระบบกำกับดูแล ผลคือผ่านไป 14 ปี ไม่มีเหตุเกิดซ้ำ.