เมื่อเวลา 10.40 น. วันที่ 7 ต.ค. ที่ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือเรื่องความปลอดภัยทางถนน พร้อมด้วยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายนิกร จำนง ประธานมูลนิธิประชาปลอดภัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย โดยที่ประชุมมีการหารือใน 3 ประเด็น คือ เรื่องโศกนาฏกรรมรถบัสนักเรียนเกิดเพลิงไหม้ มาตรการป้องกันการเกิดเหตุซ้ำรอย และมาตรการกิจกรรม รวมไปถึงข้อกฎหมายที่หน่วยงานต่าง ๆ รับผิดชอบ และการเตรียมความพร้อมต้อนรับ Mr.Jean Todt UN Special Envoy for Road Safety ที่จะเดินทางมาประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1-6 พ.ย. นี้

โดยนายกฯ กล่าวว่า วันนี้มาคุยกันจากเหตุการณ์วันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา ถือเป็นเหตุการณ์ ที่น่าสลดใจ และทำให้รัฐบาลได้กลับมามองกรอบทุกอย่างอีกครั้ง จึงเกิดประชุมในวันนี้ อยากให้มีการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยบนท้องถนน และคงจะมีกฎอีกหลายกฎที่ไม่อัปเดตหรือยังไม่ทันสมัยในปัจจุบัน เราอาจจะต้องมาพูดคุยกันในเรื่องนี้ เพื่อปรับแก้ตัวกฎหมายต่างๆ และข้อบังคับใช้ต่างๆ เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยด้วย อันนี้เป็นสิ่งที่อยากให้มาพูดคุยกันในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรถบัส ที่เคยมีข้อเสนอมาแล้วว่าอยากให้มีการแนะนำเหมือนการขึ้นเครื่องบินว่าประตูทางออกอยู่ทางไหน ระบบความปลอดภัยอะไรใช้อย่างไร ซึ่งในโลกโซเชียลประชาชนแนะนำเรื่องประตูทางออกค่อนข้างดี อยากให้ทุกคนลองหาข่าวดู เพราะประชาชนทำคลิปขึ้นมาค่อนข้างมีประโยชน์มากพอสมควร และมีความคิดสร้างสรรค์ด้วย 

นายกฯ กล่าวต่อว่า รัฐบาลอยากให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกัน เพราะเดี๋ยวจะมีในเรื่องของนานาชาติ จะมีโครงการทาง Un special envoy for road safety โดย Mr.Jean Todt  เป็นประธานจะเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกันในหัวข้อดังกล่าวในช่วงเดือน พ.ย. นี้ และจะได้ประชาสัมพันธ์ให้ทั่วโลกได้เห็นความสำคัญของการคมนาคม และการใช้ระบบความปลอดภัยต่างๆ ทั้งนี้ วันนี้จะขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ช่วยกันแสดงความเห็นเรื่องนี้

นายกฯ กล่าวอีกว่า อีกอย่างที่อยากให้เกิดขึ้น คือการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน หลังจากนี้เราอาจจะจัดทำในเรื่องของการประชุมเชิงปฏิบัติการ (WorkShop) หรืออะไรที่สามารถให้ความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาครัฐร่วมกันได้ ซึ่งจริงๆ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับเจ้าของรถหรืออะไรต่างๆ มาคุยกัน เขาจะได้บอกว่าปัญหาที่เขาเจอคืออะไร อยากให้รัฐบาลช่วยเหลืออย่างไร หรือมองเห็นสิ่งที่จะพัฒนาร่วมกันอย่างไร และจบการประชุมวันนี้ อยากให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเกิดขึ้น โดยเราจะมาเสนอกันมาอีกรอบว่าจะเป็นในรูปแบบไหน.