เรียกได้ว่าสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังคงน่าเป็นห่วง เพราะมีประชาชนประสบภัยน้ำล้นตลิ่ง ได้รับผลกระทบจำนวน 7 อำเภอ 96 ตำบล 545 หมู่บ้าน 23,497 ครัวเรือน
– อำเภอเสนา รวม 11 ตำบล 84 หมู่บ้าน 4 ชุมชน 5,433 ครัวเรือน
– อำเภอบางบาล รวม 16 ตำบล 102 หมู่บ้าน 4,666 ครัวเรือน
– อำเภอผักไห่ รวม 15 ตำบล 85 หมู่บ้าน 3,879 ครัวเรือน
– อำเภอบางไทร รวม 22 ตำบล 109 หมู่บ้าน 3,924 ครัวเรือน
– อำเภอพระนครศรีอยุธยา รวม 20 ตำบล 66 หมู่บ้าน 16 ชุมชน 2,274 ครัวเรือน
– อำเภอบางปะอิน รวม 11 ตำบล 78 หมู่บ้าน 3,211 ครัวเรือน
– อำเภอบางปะหัน รวม 1 ตำบล 5 หมู่บ้าน 110 ครัวเรือน วัด 14 แห่ง มัสยิด 2 แห่ง โรงเรียน 21 แห่ง (เป็นศูนย์เด็กเล็ก 2 แห่ง) สถานที่ราชการ 5 แห่ง ถนนภายในหมู่บ้าน 26 สาย

แม้ว่าทางด้าน นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งกล่าวว่า รัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ประสานกับกรมชลประทานตลอด เพื่อเตรียมแผนระบายน้ำ ได้ประเมินความเสียหาย และวางงบประมาณที่จะต้องใช้ในการฟื้นฟูทั้งหมดประมาณ 3,700 ล้านบาท และได้ส่งข้อมูลไปให้กระทรวงมหาดไทยแล้ว ซึ่งคาดว่าน่าจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เพื่อพิจารณาอนุมัติได้ในสัปดาห์หน้า ตามที่ได้เสนอข่าวไปก่อนหน้านี้

ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บนโลกออนไลน์ได้มีการแชร์โพสต์ของเพจเฟซบุ๊ก อยุธยา-Ayutthaya Station ที่ได้ออกมาร่ายข้อความยาวจากใจผู้ประสบภัย ถึงประเด็นน้ำท่วม รวมถึงแนะนำวิธีการช่วยเหลือที่คาดว่าเป็นประโยชน์สูงสุด โดยระบุว่า ผู้เสียสละรับน้ำ ไม่ควรนอนในน้ำ ขอเขียนจากหัวใจของคนที่เกิดและโตที่อยุธยา ในพื้นที่แอ่งกระทะ ในพื้นที่อำเภอบางบาล ซึ่งปัจจุบันคือพื้นที่รับน้ำ

ตั้งแต่เกิดมาบ้านถูกน้ำท่วมมาตั้งแต่เกิดเลยค่ะ เพราะบ้านต่ำ ไม่มีเงินมาดีดบ้านหนีน้ำค่ะ ต้องจำใจก้มหน้ารับน้ำไปค่ะ ตอนเด็ก ๆ สนุกค่ะ น้ำท่วมได้เล่นน้ำสนุกมาก มันคือความทรงจำดีดี ที่อยากให้มีน้ำท่วมทุกปี แต่พอโตมาจึงเข้าใจว่าน้ำท่วมโคตรลำบาก เมื่อถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำ โดยที่ชาวบ้านไม่รู้หรอกค่ะว่าเราต้องเป็นพื้นที่รับน้ำ จึงอยากส่งเสียงเรียกร้องค่ะ

การแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำที่ตรงไปตรงมา การประเมิณสถานการณ์น้ำจากผู้เชี่ยวชาญที่สามารถวิเคราะห์ได้ใกล้เคียง การช่วยเหลือแบบเร่งด่วน เมื่อน้ำท่วมปุ๊บ เยียวยาให้ทันค่ะ เพราะทุกครั้งที่น้ำท่วมมีค่าใช้จ่ายเสมอ การเยียวยาในตัวเลขที่เหมาะสมกับการที่ต้องเอาบ้านรับน้ำ 2-4 เดือนค่ะ ไม่ใช่เยียวยา 120 หรือ 2,000-3,000 บาท การเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ล่วงหน้าต้องพร้อมค่ะ เช่น เต๊นท์ เรือ ช่วยชาวบ้าน

คนอยุธยาไม่ได้อยากรับน้ำหรอกค่ะ แต่หากมันเลือกไม่ได้ ลองเปลี่ยนวิธีบริหารจัดการมาลงพื้นที่หน้างาน เก็บข้อมูลจริงไหมคะ จะได้ช่วยเหลือได้ตรงจุด เช่น ปล่อยน้ำ 1500 ลบ.ม./วิ พื้นที่ไหนท่วมหนัก ถึงพื้นบ้าน มีกี่หลังคาเรือน, ปล่อยน้ำ 2000 ลบ.ม./วิ มีพื้นที่ไหนเดือดร้อนเพิ่มบ้าง จากนั้นนำสถิติที่ได้มาประมวลผลข้อมูลช่วยชาวบ้านให้ตรงจุดค่ะ นั่นคือการดีดบ้านเขาให้พ้นน้ำ

การดีดบ้านให้พ้นน้ำ ทำให้ ปชช. มีที่นอนในยามที่ต้องรับน้ำค่ะ คุณไม่จำเป็นต้องช่วยเหลือทีเดียวทั้งหมด แต่ค่อย ๆ ทำค่อย ๆ ช่วยเหลือไปค่ะ ปีนี้ดีดไป 10 หลัง ปีหน้าก็ดีดเพิ่มค่ะ ค่าดีดบ้านหลังละ 1-3 แสน ไม่แพงเลยค่ะ สำหรับหน่วยงานราชการ แต่สำหรับชาวบ้านบางคนตายไปแล้ว ก็ยังหาเงินแสนไม่ได้เลยค่ะ

ไม่ต้องไปทำโครงการกู้ยืมให้ชาวบ้านกู้เงินไปดีดบ้านนะคะ ควรช่วยตรง ๆ เลย ลองปรับวิธีการช่วยเหลือให้มันเข้ากับสถานการณ์ ให้มันใช้ได้จริงดีกว่าค่ะ การแจกเงินเยียวยา 3,000-5,000 มันวนลูปต้องแจกอยู่แบบนั้นไม่จบสิ้นค่ะ

อย่างไรก็ตามเมื่อโพสต์ถูกเผยแพร่ออกไป ก็มีชาวเน็ตต่างเข้าไปคอมเมนต์วิพากษ์วิจารณ์ และแชร์ประสบการณ์ผู้ประสบภัยน้ำท่วมกันล้นหลามอีกด้วย…

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : @อยุธยา-Ayutthaya Station