รู้หรือไม่ว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำ“ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5”มาแล้ว 29 ปี ติดฉลากไปแล้ว 26 ผลิตภัณฑ์ จ่ายฉลากไปแล้ว 502 ล้านฉลาก สามารถประหยัดพลังงานได้  38,000 ล้านหน่วย คิดเป็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 31 ล้านตัน

ทุกๆปีกฟผ.จะทยอยติดฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ในผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด ปีแรกเมื่อปีพ.ศ.2538 ติดฉลากเบอร์ 5 เครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดแรกคือ “ตู้เย็น” ปีถัดมา “เครื่องปรับอากาศ”  ในปีพ.ศ. 2567 ติดฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ใน 5 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย แผงเซลล์แสงอาทิตย์ โคมไฟถนน อินเวอร์เตอร์ที่ใช้กับระบบเซลล์แสงอาทิตย์ที่เชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า และเครื่องปรับอากาศแบบหลายชุดแฟนคอยล์ (VRF)

ขณะเดียวในปีนี้ผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ทดสอบผลิตภัณฑ์เพื่อติดฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ได้แก่เครื่องอบผ้า สำหรับอบเพื่อให้เสื้อผ้าแห้งสนิทด้วยความร้อน ตู้แช่แข็งฝาทึบ ตู้ที่ทำความเย็น ทำให้วัตถุที่แช่แข็งมีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง โดยทั่วไปจะทำอุณหภูมิได้ตั้งแต่ -15 องศาเซลเซียสหรือต่ำกว่า สำหรับเก็บรักษาอาหารที่ต้องการเก็บเป็นระยะเวลานาน เช่นไอศกรีม เนื้อสัตว์ หรืออาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง เป็นต้น และโคมไฟถนนแอลอีดีเซลล์แสงอาทิตย์ อุปกรณ์สองสว่างประสิทธิภาพสูงที่ใช้แหล่งพลังงานจากแสงอาทิตย์สะสมพลังงานด้วยแบตเตอรี่สำหรับส่องสว่างถนนหรือสถานที่ต่าง ๆ ในช่วงกลางคืน

 เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2567 ที่กฟผ.สำนักงานใหญ่จ.นนทบุรี  ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และหน่วยงานพันธมิตร ร่วมลงนามความร่วมมือโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 พร้อมมอบโล่โครงการที่ปรึกษาพลังงาน และโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ณ สำนักงานใหญ่ กฟผ. จ.นนทบุรี เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้เพิ่มประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มุ่งสู่พลังงานสะอาด และความเป็นกลางทางคาร์บอน ตามเป้าหมายของประเทศ

นายเทพรัตน์ กล่าวภายหลังร่วมลงนามและมอบโล่ว่า ผู้ประกอบการที่สนใจติดฉลากเบอร์5 มีเพิ่มขึ้นมาทุกปี เนื่องจากอุปกรณ์ไฟฟ้ารุ่นใหม่เกิดขึ้นมา ได้รับความนิยมจากประชาชนซื้อหามาใช้งานเพิ่มมากขึ้น กฟผ.จะรวบรวมผู้ประกอบการที่มีผลิตภัณฑ์คล้ายๆกันเพื่อออกแบบและประเมินประสิทธิภาพของอุปกรณ์นั้นๆ จนกระทั่งสามารถได้เกณฑ์เบอร์ 5 ไล่ระดับตั้งแต่ 1 ดาวจนถึง 5 ดาว ผู้ประกอบการจะเริ่มต้นปรับปรุงอุปกรณ์ จนได้มาตรฐานที่ดีขึ้น เมื่อผู้ประกอบการสามารถดำเนินการได้ตามมาตรฐานแต่ละดาวแล้ว จะได้รับการติดฉลากเบอร์ 5 ตามจำนวนดาวที่ทำได้ ขณะที่กฟผ.จะมีรางวัลเป็นโล่มอบให้

    “เกือบ 30 ปีที่กฟผ.ดำเนินการต่อเนื่องมาวันนี้เข้าไปถึงทุกครัวเรือน ทุกคนเข้าใจ หลายคนซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าจะมองหาฉลากเบอร์ 5 ที่สำคัญพยายามผลักดันให้ฉลากเบอร์5โกอินเตอร์สู่สากล เนื่องจากผลิตภัณฑ์หลายอย่างนำไปขายในต่างประเทศ เท่ากับมีส่วนช่วยลดโลกร้อนในประเทศต่างๆด้วย” นายเทพรัตน์ กล่าวและว่าฉลากเบอร์ 5 จะระบุว่าเมื่อใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดนั้นจะประหยัดไฟได้ปีละเท่าไรตามมาตรฐานของดาวเมื่อเทียบเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้ฉลากเบอร์ 5 และฉลากเบอร์ 5 รุ่นใหม่ยังพูดถึงคาร์บอนฟรุตพรินท์ของผลิตภัณฑ์  ซึ่งนอกจากเครื่องใช้ไฟฟ้า ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆที่สามารถได้ฉลากเบอร์ 5 ได้ เช่น เสื้อผ้า ม่าน สิ่งเหล่านี้สามารถลดใช้พลังงานได้ระหว่างที่มีการใช้งานหรือในกระบวนการผลิต

 ทั้งนี้กฟผ.ได้ลงนามความร่วมมือเพื่อสร้างร่วมมือกับสพฐ.โครงการความร่วมมือด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา (โครงการห้องเรียนสีเขียว) เพื่อขยายเครือข่ายความร่วมมือในการส่งต่อองค์ความรู้ ความเข้าใจด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ แก่นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียน มุ่งสู่สังคมแห่งการเรียนรู้สีเขียว (Green Learning Society) ซึ่งปัจจุบันมีโรงเรียนในโครงการกว่า 1,300 แห่งทั่วประเทศ  สนับสนุนองค์ความรู้ในเรื่องการลดใช้พลังงาน ในโรงเรียน และส่งต่อไปถึงบ้านของนร. และมอบเงินจำนวน 5,000 บาทสำหรับโรงเรียนสังกัดสพฐ. ที่ทำกิจกรรมลดใช้พลังงาน ครอบคลุมไปถึงกิจกรรมที่ลดผลกระทบการเกิดภาวะโลกร้อน

อย่างไรก็ตามกฟผ. ได้ดำเนินงานจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า หรือ DSM ด้วยกลยุทธ์ 3 อ. ได้แก่ อ. ที่ 1 อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ซึ่งปัจจุบันมีอุปกรณ์ที่ติดฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 แล้ว ทั้งหมด 26 ผลิตภัณฑ์ อ. ที่ 2 อาคารและอุตสาหกรรมประสิทธิภาพพลังงานสูง และ อ. ที่ 3 อุปนิสัยการใช้พลังงานคุ้มค่าและปลอดภัย เพื่อส่งเสริมให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา และภาคที่อยู่อาศัย ใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยมาตรการที่เหมาะสมและคุ้มค่า