“ปณต สิริวัฒนภักดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด  เปิดเผยภายในงานเสวนาประเด็นความยั่งยืนในธุรกิจการบินและบริการการต้อนรับ ในหัวข้อ “Sustainability in Hospitality and Mobility” ที่จัดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของงาน SX 2024 มหกรรมความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน จัดถึงวันที่ 6 ต.ค. ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ว่า การจะขับเคลื่อนความยั่งยืนให้เกิดขึ้น จำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เพราะทุกคนล้วนสร้างผลกระทบต่อโลกของเรา จากการใช้ชีวิตและกิจกรรมทางธุรกิจ ความยั่งยืนในเชิงธุรกิจ ต้องมาจากการดำเนินการโดยยึดมั่นในหลัก ESG หรือความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance)  และการไม่นำทรัพยากรในอนาคตของคนรุ่นหลังมาใช้จนหมด แต่ในปัจจุบัน ธุรกิจบริการต้อนรับมีส่วนสร้างผลกระทบต่อโลกนี้ประมาณ 40%  ดังนั้นการให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนจึงเป็นประเด็นสำคัญสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้

“การดำเนินการเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความยั่งยืนภายในองค์กรของเรา หรือการดำเนินการใน Scope 1 และ Scope 2 นั้น เราควบคุมและขับเคลื่อนเองได้  แต่พอไปถึง Scope 3 หรือการขับเคลื่อนตลอดทั้งซัพพลายเชน ต้องอาศัยความร่วมมือและความมุ่งมั่นของทุกฝ่ายที่ต้องมีเป้าหมายเดียวกัน” ปณต กล่าว

ด้าน “โทนี่ เฮอร์นันเดซ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Capital A ผู้ดำเนินการสายการบินแอร์เอเชีย เห็นว่า นอกจากการสร้างความยั่งยืนในเชิงพาณิชย์สำหรับองค์กรธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การจ้างงาน และการพัฒนาต่าง ๆ แล้ว ยังจะต้อง “ให้ความรู้” เพื่อให้คนทุกคนในสังคมตระหนักถึงผลกระทบที่เรามีต่อโลก  และเข้าใจว่าแต่ละองค์กร หรือแต่ละโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมความยั่งยืน มีความสำคัญอย่างไร

“โทนี่” อธิบายว่า องค์กรต่าง ๆ แบ่งส่วนแบ่งรายได้ไปเพื่อทำโครงการที่ช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคหรือลูกค้าจำเป็นต้องเข้าใจว่า ในค่าสินค้าและบริการที่จ่ายไปนั้น ส่วนหนึ่งนำไปใช้เพื่อโครงการเหล่านี้ ความเข้าใจจะทำให้ทุกคนในสังคมมีส่วนร่วม  สนับสนุนกิจกรรมเพื่อปกป้องโลก และสนับสนุนภาคธุรกิจให้หันมาทำโครงการหรือกิจกรรมเพื่อความยั่งยืนกันมากขึ้น

“ผมพร้อมที่จะลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่องานด้านความยั่งยืน ผมเห็นว่าการให้ความรู้และการศึกษาเกี่ยวกับความยั่งยืนแก่ประชาชน เป็นสิ่ง “จำเป็น” ที่ต้องทำ” โทนี่ กล่าว

นอกจากนี้ โทนี่ยังเสนอว่าภาครัฐจำเป็นต้องมี “กฎหมายที่ใช่” รัฐบาลหลายประเทศเชื่อและฟังที่ปรึกษาจากต่างประเทศที่ไม่เข้าใจบริบทของภูมิภาคอาเซียนมากเกินไป และแต่ละประเทศก็มีกฎหมาย ระเบียบ หรือมาตรฐานการบินที่แตกต่างกันทำให้องค์กรธุรกิจที่ดำเนินการในหลายประเทศ เกิดความยุ่งยากในการบริหารจัดการ เช่น มาตรฐานน้ำมันอากาศยานที่มีความแตกต่างกันในแต่ละตลาด ซึ่งโทนี่เห็นหว่าแทนที่จะมากำหนดมาตรฐานน้ำมันอากาศยาน ภาครัฐควรไปดูและเรื่องการบริหารการจราจรทางอากาศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจะเป็นประโยชน์กว่า เพราะถ้าเครื่องบินต้องบินวนหลายรอบเพื่อรอลงจอด หรือรอขึ้นบิน เป็นการเสียเวลาและสูญเสียพลังงาน เพราะการบินวนต้องใช้น้ำมันเยอะ และสร้างมลภาวะมากขึ้นตามไปด้วย

“รัฐบาลต้องทำให้มั่นใจว่ากฎหมายและระเบียบต่าง ๆ สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง และไม่ส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชน หรือทำให้ใครต้องเลิกกิจการ เราทุกคนต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงที่จะช่วยโลกของเรา” โทนี่ กล่าวสรุป