สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อวันที่ 5 ต.ค. ว่า คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป (อียู) เตรียมใช้อำนาจเรียกเก็บภาษีผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ของจีน ที่จะเพิ่มเป็นสูงสุด 45% จากปัจจุบัน 10% เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี เริ่มตั้งแต่สิ้นเดือน ต.ค. นี้


แม้มาตรการดังกล่าว ซึ่งอีซีเสนอเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ไม่ได้ความสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์ หรือแม้แต่ด้วยเสียงข้างมากจากสมาชิก โดย 10 ประเทศ รวมถึงฝรั่งเศส อิตาลี และโปแลนด์ สนับสนุนการขึ้นภาษีจาก 10% เป็นเพียง 35.3% ขณะที่ 5 ประเทศคัดค้าน รวมถึงเยอรมนีและฮังการี และอีก 12 ประเทศงดออกเสียง รวมถึงสเปนและสวีเดน


อย่างไรก็ตาม เสียงคัดค้านยังไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำของอียู ที่จะปัดตกมติใดก็ตาม ซึ่งระบุว่า ต้องมาจากอย่างน้อย 15 ประเทศ และมีประชากรรวมกันคิดเป็นอย่างน้อย 65% ของประชากรทั้งสหภาพ


ขณะเดียวกัน มติที่ออกมายังสะท้อนว่า สองประเทศชนาดใหญ่ของอียู คือเยอรมนีและฝรั่งเศส มีความเห็นแตกต่างกันอย่างชัดเจนในเรื่องนี้ โดยรัฐบาลปารีสมองว่า การขึ้นภาษีจะช่วยเพิ่มโอกาสและบทบาทของผู้ผลิตรถยนต์ยุโรป ในการถ่วงดุลอำนาจกับผู้ผลิตจากจีน


แต่เยอรมนีซึ่งมีอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่อันดับต้นของโลก เรียกร้องไม่ให้เดินหน้ามาตรการ เนื่องจากหวั่นเกรงความรุนแรงของสงครามการค้า ส่วนบริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่ของเยอรมนี แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยเช่นกัน


ด้านกระทรวงพาณิชย์จีนออกแถลงการณ์ ประณามมาตรการกีดกันทางการค้าอย่างรุนแรง และจะเป็น “ชนวนเหตุ” ของสงครามการค้าครั้งใหม่ อย่างไรก็ดี ต่างฝ่ายต่างยังคงยืนยันว่า การเจรจาเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งในเรื่องดังกล่าวจะดำเนินต่อไป แม้รัฐบาลปักกิ่งทยอยตอบโต้ด้วยหลายมาตรการ รวมถึงการสอบสวนการทุ่มตลาดของอียู ที่มีต่อผลิตภัณฑ์นมนานาชนิด.

เครดิตภาพ : AFP