เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ยังเป็นเรื่องที่สาละวันเตี้ยลง ๆ วิ่งวนในอ่างอยู่ไม่รู้แล้ว เหมือนต่างฝ่ายต่างสงวนท่าทีว่า “ใครจะพูดก่อนว่าไม่แก้” เพราะดูปัญหาอุปสรรคเยอะ จากที่เดิมจะแก้รายมาตราควบคู่ไปด้วย ต่อมาพรรคภูมิใจไทยและเพื่อไทยก็ถอย ส่วนการจะแก้ทั้งฉบับต้องทำประชามติก่อนว่า “ประชาชนต้องการให้มีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่” ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ออกแบบให้การทำประชามติใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว เฉพาะเสียงข้างมากเกินกึ่งของผู้มาลงคะแนน

ขณะที่วุฒิสภา มีความเปลี่ยนแปลงให้กลับไปใช้เสียงข้างมากสองชั้น คือ เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเป็นชั้นแรก และเสียงข้างมากของผู้มาลงคะแนนเป็นชั้นที่สอง เมื่อวุฒิสภามีมติออกมาเช่นนี้จึงมีแนวโน้มว่าต้องตั้ง กมธ.ร่วมเพื่อพิจารณา และให้วุฒิสภายืนยันมติ กมธ.ร่วมอีกครั้งว่า จะใช้เสียงข้างมากสองชั้นหรือชั้นเดียว ..การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไรต่อไปขึ้นอยู่กับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลหารือ

นายนิกร จำนง ผอ.พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ยืนยันว่า อย่างไรรัฐบาลก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ถอยไม่ได้ เพราะออกเป็นนโยบายมีผลผูกพัน เรื่องประชามติ 2 ชั้น สภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วยกับวุฒิสภาแน่นอน ต้องตั้ง กมธ.ร่วมกัน วันที่ 16-23 ต.ค. กมธ.ร่วมต้องตกลงกันให้ได้ ภายในวันที่ 28 ต.ค. วุฒิสภาจะต้องยืนยันและเห็นด้วยกับข้อคิดเห็นของ กมธ.ร่วม ซึ่งหากทั้ง 2 สภาเห็นด้วยวันที่ 30 ต.ค. ก็จะมีผลและวันที่ 31 ต.ค. สามารถส่งให้นายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ในวันที่ 2 ก.พ.68 ที่จะมีการเลือกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ( อบจ.) ก็ยังทันอยู่ เพราะตอนแรกยังกังวล เนื่องจากเกรงว่าวุฒิสภาจะดึง.

เมื่อถามว่า ท่าทีของพรรคภูมิใจไทย เขามองว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนแล้ว นายนิกร กล่าวว่า ถึงไม่ใช่แต่ก็ไม่มีเหตุที่จะมาดึงตรงนี้ เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องเร่งด่วนแต่เป็นเรื่องของกฎหมายฉบับหนึ่งที่ควรจะเป็นอย่างไร เราก็ไม่สามารถจะไปพูดได้ว่าภูมิใจไทยเกี่ยวข้องกับวุฒิสภาอย่างมีนัยยะสำคัญ เราอาจจะมองได้แต่พูดไม่ได้ ขอให้มองว่า ที่จะเสียแน่ๆ คือรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชน แล้วใครจะเป็นคนรับผิดชอบ ยังหวังว่าจะแก้รัฐธรรมนูญทันรัฐบาลชุดนี้

นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ขณะนี้พรรคเพื่อไทย ยังไม่ได้นัดหารือเพื่อพูดคุยในประเด็นแก้รัฐธรรมนูญ ขออย่าเพิ่งกังวลตรงนั้น เพราะมีหลายเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญมากกว่า อาทิ ปัญหาอุทกภัย เรื่องเหตุรถบัสทัศนศึกษานักเรียนไฟไหม้ รัฐบาลนี้จะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ก็ต้องขอหารือก่อน

วันที่ 4 ต.ค.นายอนุทิน ได้เดินทางไปที่สนามช้างอารีน่า จ.บุรีรัมย์ ร่วมงานวันคล้ายวันเกิด 66 ปี นายเนวิน ชิดชอบ ประธานบริหารสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ครูใหญ่พรรคภูมิใจไทย มีนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง เดินทางมาร่วมแสดงความยินดี เป็นจำนวนมาก ทั้ง สส.ภูมิใจไทย สว. ข้าราชการมหาดไทย ซึ่งในพิธีปะกำช้าง พิธีศักดิ์สิทธิ์ประจำตระกูลชิดชอบ นายเนวินได้หันมาบอกหมอช้างให้ผูกข้อมือให้นายอนุทิน ด้วย ก่อนที่จะกล่าวด้วยเสียงดังว่า “ผูกให้เป็นนายกฯ ผูกให้ยิ่งใหญ่ ผูกให้แข็งแรง” จนนายอนุทินมีทีท่าทีเขิน

ผู้สื่อข่าว ได้สอบถามนายอนุทิน ว่านายเนวิน ได้อวยพรให้เป็นนายกรัฐมนตรีจะขานรับหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า “นายกฯ เป็นตลอดอยู่แล้วไม่มีใครแย่ง นายกฯสมาคมเกลียมัว แห่งประเทศไทย ยังไม่เคยมีใครชิงตำแหน่งนี้จากผมได้” และว่า ตอนนี้ขอเป็นรัฐมนตรี ทำหน้าที่ให้ดีก่อน ขอเป็นรองนายกรัฐมนตรี ทำงานให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ประสบความสำเร็จ ให้รัฐบาลมีแต่ความก้าวหน้า ทำประโยชน์ให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุด

ด้าน นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) โยนเรื่องแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองคุยกันก่อน วิปรัฐบาลไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการประสานเพื่อหารือ ถ้าตกลงกันได้ การแก้รัฐธรรมนูญก็เดินหน้าต่อในสมัยประชุมสามัญนี้ ซึ่งจะปิดสมัยประชุม ในวันที่ 31 ต.ค. 2567 ต้องคุยให้เบ็ดเสร็จไปถึงพวกกฎหมายประชามติด้วย ถ้าจะเปิดสภาสมัยวิสามัญก็แล้วแต่รัฐบาลเสนอมา

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ กล่าวถึงกรณีศาลนราธิวาสออกหมายจับพล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กรณีไม่ไปขึ้นศาลพิจารณาคดีเหตุการณ์สลายการชุมนุม อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ปี 2547 ว่า เมื่อเดือนที่แล้วทราบว่า ไปรักษาตัวอยู่ต่างประเทศ แต่ไม่ทราบว่าไปที่ไหน รัฐธรรมนูญ มาตรา 125 บัญญัติไว้ชัดเจน ว่าช่วงของการประชุมสภา การจับกุมคุมขัง ประธานจะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาเพื่อให้สภาอนุมัติก่อนถึงจะจับได้

“เรื่องนี้อยู่ในอำนาจศาลแล้ว ไม่ได้เอารัฐธรรมนูญมาอ้างเพื่อที่จะปกป้อง พล.อ.พิศาล แต่พูดถึงหลักการ ที่นายรังสิมันต์ โรม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายเกี่ยวกับคดีตากใบเมื่อวันที่ 3 ต.ค. พูดไปแล้วมันได้อะไรขึ้นมา เอามาปั่นในสภามันดีหรือไม่ และก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ตากใบ ต้องดูว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง คนที่เกิดทีหลังเหตุการณ์ที่ผ่านมา 20 ปี ฟังแล้วอาจเกิดความแตกแยก วันนี้ควรพูดเรื่องแก้ปัญหาปากท้อง น้ำท่วมก่อนดีหรือไม่ ไม่เข้าใจเจตนาว่าถามไปเพื่ออะไร เพื่อที่จะให้คะแนนเสียง หรือเกิดความแตกแยกในประเทศชาติบ้านเมือง เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ไม่อยากให้เรื่องนี้ลุกลามบานปลายเพราะจะเกิดความเสียหายได้” นายวิสุทธิ์ กล่าว

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ว่า พรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องประสานงานให้ พล.อ.พิศาล เข้ามามอบตัวหรือไม่ ว่า ไม่ใช่เรื่องของพรรคเพื่อไทย เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล เป็นหน้าที่ของฝ่ายกระบวนการยุติธรรม ตำรวจต้องทำหน้าที่เร่งรัดตามคำสั่งของศาล หากพบตัวก็สามารถควบคุมตัวได้ พรรคไม่สามารถไปกำหนดชะตาชีวิตได้ทั้งหมด แนะนำได้เท่านั้น ในพรรคไม่มีใครติดต่อ พล.อ.พิศาลได้ ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนจะแนะนำให้เข้าไปสู่กระบวนการยุติธรรม อยากให้ พล.อ.พิศาล เข้าสู่กระบวนการของศาล ให้จบลงด้วยความชัดเจน

วันที่ 4 ต.ค.นายภูมิธรรมเป็นประธานประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ ( สมช.) ที่ทําเนียบรัฐบาล ที่ประชุมได้พิจารณาแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ทดแทน พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ ที่เกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 30 ก.ย.2567 ซึ่งแหล่งข่าวระดับสูงในที่ประชุม สมช. แจ้งว่า นายฉัตรชัย บางชวด จะได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช.คนใหม่