สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 4 ต.ค. ว่า การเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่าออกไปเป็นเวลา 1 ปี ก่อให้เกิดการประท้วงทันที จากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน ก็เผชิญกับการต่อต้านอย่างหนักจากรัฐบาลและอุตสาหกรรมหลายแห่ง

สมาคมกาแฟเวียดนามออกแถลงการณ์ว่า การตัดสินใจของอียู ถือเป็นการบรรเทาความกดดัน เนื่องจากกฎหมายยังคงมีความซับซ้อน และไม่ชัดเจนในหลายเรื่อง “การเลื่อนมีความจำเป็นและสมเหตุสมผล” แม้มีการตั้งข้อสังเกตว่า ราคากาแฟที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากบริษัทต่าง ๆ กักตุนสินค้าก่อนถึงกำหนดบังคับใช้กฎหมาย และยืนยันว่า เวียดนามให้ความจริงจังกับการต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่ามาตลอด

รายของของ “โกบอล ฟอเรส วอตช์” ระบุว่า แม้การสูญเสียพื้นที่ป่าหลักของเวียดนาม ลดลงจากจำนวนจุดสูงสุดเมื่อปี 2559 แต่ยังคงมีการสูญเสียพื้นที่ประมาณ 16,500 เฮกตาร์ (ราว 103,125 ไร่) เมื่อปี 2566 โดยการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อสินค้าโภคภัณฑ์ ถือเป็นสาเหตุหลัก

ตามข้อมูลขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ) การนำเข้าของอียูคิดเป็นร้อยละ 16 ของการตัดไม้ทำลายป่าที่เชื่อมโยงกับการค้าโลก เมื่อปี 2560 แต่หลังจากนำกฎหมายมาใช้ในปี 2566 ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญ ในการปกป้องธรรมชาติและสภาพอากาศ ผ่านการให้ผู้ผลิตสินค้าต่าง ๆ ต้องรับรองว่าสินค้าของตนไม่ได้ผลิตบนผืนดินที่ถูกทำลายป่าหลังเดือน ธ.ค. 2563

ประเทศต่าง ๆ รวมถึงมาเลเซียและอินโดนีเซีย ต่างคัดค้านกฎใหม่นี้อย่างเปิดเผย และเสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ดังขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อใกล้ถึงกำหนดการบังคับใช้ ในเดือน ธ.ค. นี้ ขณะที่บราซิลและสหรัฐ ต่างแสดงความกังวลเช่นกัน

ด้านสภาปาล์มน้ำมันของมาเลเซีย ยินดีกับข้อเสนอการเลื่อนกำหนดดังกล่าว นายเบลวินเดอร์ คัวร์ สรอน ประธานสภาปาล์มน้ำมันมาเลเซีย กล่าวว่า การตัดสินใจครั้งนี้ ถือเป็นการบรรเทาทุกข์ให้กับธุรกิจทั้งหมด “มาเลเซียได้ให้หลักฐานอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ว่าวันที่บังคับใช้ 30 ธ.ค. 2567 นั้นทำไม่ได้ และระบบของอียูไม่พร้อม” สภาปาล์มน้ำมันมาเลเซีย ระบุในแถลงการณ์

ในอินโดนีเซีย สมาคมน้ำมันปาล์มชั้นนำของประเทศร่วมยินดีเช่นกัน นายเอ็ดดี มาร์โตโน ประธานสมาคม เรียกร้องให้อียูยอมรับมาตรฐานความยั่งยืนของอินโดนีเซีย และยอมรับความพยายามต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่า

ทั้งนี้ น้ำมันปาล์มเป็นสินค้าส่งออกหลักอย่างหนึ่งของอินโดนีเซีย แต่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า โดยในปี 2566 พื้นที่ป่าถูกทำลายไปเกือบ 300,000 เฮกตาร์ (ราว 1.8 ล้านไร่) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า แต่ยังคงลดลงจากจุดสูงสุด เมื่อปี 2559

อย่างไรก็ดี นักสิ่งแวดล้อมจากอินโดนีเซียเตือนว่า ความล่าช้าของอียูในเรื่องนี้ อาจส่งผลให้มีการตัดไม้ทำลายป่าที่ไม่ได้รับการควบคุมมากขึ้น.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES