เมื่อวันที่ 4 ต.ค. ที่ รพ.หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เป็นประธานในพิธีประดิษฐานรูปหล่อพระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ) เปิดอาคาร 100 ปี ชาตกาล และเปิดสวนสุขภาพ 101 ปีชาตกาล โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข บุคลากรเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล และ อสม.ร่วมพิธี

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายพัฒนาศักยภาพ รพ.ในสังกัด และยกระดับระบบบริการให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งโรงพยาบาลหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ได้พัฒนาการจัดบริการประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง และได้ย้ายสถานที่ให้สามารถรองรับผู้รับบริการได้มากขึ้น เพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงบริการ โดยมีการจัดสร้างอาคารบริการต่างๆ ตั้งแต่ปี 2559 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบตั้งแต่ต้นปี 2567 เป็นต้นมา ปัจจุบันเป็น รพ.ชุมชนแม่ข่ายขนาด 120 เตียง ดูแลประชากรในอำเภอด่านขุนทดกว่า 123,000 คน  มีศักยภาพการให้บริการเฉพาะทาง ทั้งอายุรกรรม, ศัลยกรรมทั่วไป, ศัลยกรรมกระดูกและข้อ, กุมารเวชกรรม, เวชศาสตร์ฉุกเฉิน, ผ่าตัดต้อกระจก, เวชศาสตร์ครอบครัว, CT SCAN, การส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร (EDG & Colonoscope) นอกจากนี้ ยังมีแผนยกระดับบริการตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เช่น การเป็น รพ.แม่ข่ายด้านศัลยกรรม เพิ่มการเข้าถึงบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) ใกล้บ้าน, เพิ่มศักยภาพการดูแลผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง และการดูแลผู้ป่วยวิกฤติอีกด้วย

สำหรับอาคาร 100 ปี ชาตกาล ได้เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือน พ.ค. 2563 ใช้งบประมาณก่อสร้างจากกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 80,190,000 บาท เป็นอาคารผู้ป่วยใน 5 ชั้น รวม 114 เตียง ประกอบด้วย ชั้น 1 หอผู้ป่วยอายุรกรรมชาย ชั้น 2 หอผู้ป่วยอายุรกรรมหญิง ชั้น 3 แผนกกายภาพบำบัดและแพทย์แผนไทย ชั้น 4-5 หอผู้ป่วยพิเศษ เปิดให้บริการไปเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2567 ส่วนสวนสุขภาพ 101 ปี ชาตกาล เป็นการปรับพื้นที่เพื่อใช้เป็นพื้นที่ออกกำลังกาย จัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ให้ญาติผู้ป่วยได้พักผ่อนหย่อนใจ โดยใช้เงินบริจาคของชาวด่านขุนทด จำนวน 2,400,000 บาท ทั้งนี้ อาคาร 100 ปี ชาตกาล และสวนสุขภาพ 101 ปี ชาตกาล สร้างขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงคุณูปการต่อวงการศาสนา การศึกษา การแพทย์และสาธารณสุข ของหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ที่บำเพ็ญทานบารมีสร้างอาคารและจัดหาเครื่องมือแพทย์ให้กับ รพ.ต่างๆ จำนวนมาก

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า จังหวัดนครราชสีมา ยังเป็นจังหวัดต้นแบบในการขับเคลื่อนการลดการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก โดย รพ.หลวงพ่อคูณฯ เป็นหน่วยบริการหนึ่งที่ได้เปิดโรงเรียนเบาหวานวิทยา และเป็นพี่เลี้ยงให้หน่วยบริการ 4 แห่งในอำเภอด่านขุนทด ที่ผ่านมามีนักเรียนเข้าร่วมโครงการฯ 81 คน แบ่งเป็น ผู้ป่วยเบาหวาน  74 คน และกลุ่มเสี่ยง 7 คน ใช้กระบวนการดูแลแบบปรับพฤติกรรมสุขภาพ เช่น รับประทานอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำ การอดอาหารเป็นช่วงเวลา ร่วมกับการออกกำลังกาย ช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถหยุดยาได้ 20.4% ปรับลดยาได้ 48.2% ในจำนวนนี้ อยู่ระหว่างรอประเมินผลอีก 20 คน ลดมูลค่าการใช้ยาได้ 22,797.55 บาทต่อปี นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะขยายโรงเรียนเบาหวานวิทยาในอำเภอด่านขุนทดเพิ่มอีก 7 แห่ง ซึ่งจะช่วยลดการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังของคนในพื้นที่ได้มากขึ้น.